บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี กังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย

เงินบาท

บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี กังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก เดือนมิถุนายน ลดลง 4.4 จุด เป็นผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภค

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 35.98/36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (5/7) ที่ระดับ 35.83/85 บาท ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อเงินสกุลดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 1.30% สู่ระดับ 106.53 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาการเปิดเผยรายงานการประชุมของเฟดประจำวันที่ 14-15 มิถุนายนในคืนวันนี้ รวมทั้งตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 250,00 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าระดับ 390,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าอัตราว่างงานเดือนมิถุนายนจะทรงตัวที่ระดับ 3.6%

นอกจากนี้นักลงทุนเฝ้าติดตามความคืบหน้าสถานการณ์การค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะประกาศยกเลิกการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางส่วนจากจีนภายในสัปดาห์นี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนมิถุนายน 65 อยู่ที่ระดับ 48.9 ปรับลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 53.3 จุด ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.92-36.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (6/7) ที่ระดับ 1.0262/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่ออังคาร (5/7) ที่ระดับ 1.0284/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าสุดในรอบ 19 ปี ถึงแม้ว่าทางอีซีบีจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม แต่ภาวะเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนยังคงถูกกดดันจากความยืดเยื้อทางสงคราม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0486-1.0536 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0512/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (6/7) ที่ระดับ 135.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (5/7) ที่ระดับ 135.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง ขณะที่นักลทุนเปิดรับความเสี่ยง และหันเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.80136.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือน มิ.ย. (6/7), รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 14-15 มิ.ยง (6/7), ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/7), จีงเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานของสหรัฐ (8/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์ต่อดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ