อีกเพียง 2 สัปดาห์ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งก็จะแจ้งงบการเงินไตรมาส 2 ปี 2565 กันแล้ว ซึ่งขณะนี้คงพอเริ่มเห็นแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาสดังกล่าว เพราะจบไตรมาสไปแล้ว
ขณะที่มองไปข้างหน้ามีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้แบงก์กลับมาจ่ายปันผลได้ปกติ แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงการที่ ธปท.จะให้แบงก์กลับมานำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่อัตราเดิม 0.46% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566
7 แบงก์กำไร Q2 ชะลอจาก Q1
โดย “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ บล.พาย (Pi) กล่าวว่า บริษัททำประมาณการผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2565 ของธนาคารพาณิชย์ครอบคลุม 7 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) โดยคาดการณ์กำไรสุทธิรวม 42,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.9% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่ลดลง 4.5% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)
“กำไรที่ชะลอจากไตรมาสแรก มาจาก 3 ปัจจัย คือ รายได้ค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) จากตลาดทุนลดลงทั้งจากบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.), ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน และ การตั้งสำรองหนี้ที่ยังเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่ผันผวนในครึ่งปีหลัง”
ดีล KBANK ช่วยลดเอ็นพีแอล
สำหรับภาพรวมสินเชื่อประเมินว่าเติบโตได้ราว 5% YOY และ 1-1.5% QOQ จากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่วนมาร์จิ้นไม่น่าเปลี่ยนแปลงมาก เพราะยังไม่ได้มีการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอย่างมีนัย แต่คงจะมีผลในไตรมาส 3/2565 ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าหลังมีดีล KBANK จับมือ บมจ.เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC) มีแนวโน้มทำให้เอ็นพีแอลกลุ่มแบงก์ลดลง เพราะ KBANK จะขายหนี้เสียให้ JK AMC มูลค่า 30,000 ล้านบาท
“KBANK กับการได้เริ่มทำธุรกรรมแรกไปเมื่อเดือน มิ.ย. แต่หากไม่มีดีลนี้ปกติแล้ว NPL จะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2-3%”
ตลาดทุนผันผวนฉุดรายได้
“ธนเดช” กล่าวอีกว่า สำหรับการตั้งสำรองหนี้จะลดลงเมื่อเทียบ YOY แน่นอน เพราะปีที่แล้วฐานสูงมาก ส่วน QOQ เทรนด์ก็น่าจะปรับตัวขึ้นตามสินเชื่อที่โตขึ้น ฉะนั้น ช่วงไตรมาส 3 เอ็นพีแอลจะปรับเพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อแต่คงไม่มาก อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนหลัก ๆ ของไตรมาส 2 มาจากเอฟเฟ็กต์รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนยังไม่ฟื้นตัว ทั้งปริมาณวอลุ่มการซื้อขายของ บล. ไม่ค่อยดีนัก ผลกระทบจากภาวะการลงทุนที่ผันผวน และสินค้ากองทุนรวมของ บลจ. ที่ออกมาน้อย คาดว่ารายได้ค่าฟีจะลดลง 1% YOY และ 3% QOQ
คลายเกณฑ์ปันผล-แบงก์แกร่ง
ส่วนกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการเลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี คาดว่าน่าจะทำให้แบงก์จ่ายเงินปันผลในปี 2565 มากกว่าปี 2564
“จุดสำคัญจากเซนติเมนต์ของการเลิกจำกัดการจ่ายปันผล ถือเป็นการยืนยันสถานะการเงินของกลุ่มแบงก์และเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง”
ส่วนทิศทางช่วงที่เหลือของปีหากประเทศไทยเริ่มเปิดเมืองมากขึ้น คาดว่าวอลุ่มการซื้อขายอาจจะปรับตัวดีขึ้น และแบงก์สามารถออกไปหาลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งจะหนุนรายได้ค่าฟีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจตลาดทุน จะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก
“เพียงแต่ในไตรมาส 4 ของทุกปีแบงก์จะถูกหักลบจากค่าใช้จ่ายที่สูง เช่น ค่าไอที, ค่าพนักงาน ซึ่งจะกดดันกำไรปรับตัวลง ฉะนั้น กำไรแบงก์ครึ่งปีหลังอาจสู้ครึ่งปีแรกไม่ได้” นายธนเดชกล่าว
ลุ้นแบงก์จ่ายปันผลเท่าก่อนโควิด
ขณะที่ “ธนภัทร ฉัตรเสถียร” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า บริษัทประเมินกำไรแบงก์งวดไตรมาส 2/2565 จำนวน 6 แห่ง (BBL, KBANK, KTB, SCB, TTB และ TISCO) อยู่ที่ 42,101 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% YOY ทรงตัว 0% QOQ โดยไตรมาสนี้อาจจะเห็นการตั้งสำรองหนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะ NPL ยังทรงตัว อาจมีการตั้งสำรองพิเศษเล็กน้อยเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่บางแบงก์ในไตรมาส 1/2565 รายได้ค่าฟีอยู่ในฐานต่ำ อาจจะฟื้นตัวกลับมาได้บ้างในช่วงไตรมาส 2/2565 แม้สภาวะตลาดทุนจะดูไม่ค่อยสดใส แต่เชื่อว่ากิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะหนุนรายได้ค่าฟีของแบงก์ในส่วนธุรกรรมการโอน ขายประกันภัย ฯลฯ น่าจะดีขึ้นมาชดเชยได้บ้าง ขณะที่รายได้หลักโดยเฉพาะสินเชื่อและรายได้ดอกเบี้ยจะยังไม่ได้ฟื้นตัวชัดเจนมาก ส่วนกรณี ธปท.ผ่อนคลายมาตรการเลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล คาดว่าปีนี้จะทำให้เงินปันผลของแบงก์กลับมาเพิ่มขึ้นได้
“คราวนี้จะขึ้นอยู่ว่าแต่ละแบงก์ตัดสินใจกลับมาจ่ายปันผลในอัตราการจ่ายเงินปันผลก่อนหน้าปี 2563-2564 เลยหรือไม่ หรือยังต้องสำรองเงินไว้ก่อน โดย บล.ทรีนีตี้มองว่าแบงก์ไม่จำเป็นต้องสำรองเงินไว้จากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยคาดเงินปันผลของแบงก์น่าจะกลับมาเฉลี่ยอยู่ที่ 3-8% โดยคาดว่า TISCO จะจ่ายมากสุดที่ 7.4 บาทต่อหุ้น” นายธนภัทรกล่าว
การฟื้นตัวของกลุ่มแบงก์น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ส่วนแบงก์จะกลับมาจ่ายปันผลกันที่อัตราเท่าใดคงต้องติดตามกันต่อไป