ธปท. ยกเลิกเกณฑ์ห้ามจ่ายปันผล-สั่งจ่ายเงินสมทบ 0.46%

ธปท.ผ่อนคลายมาตรการเงินสู่ระดับปกติ เลิกจำกัดแบงก์จ่ายเงินปันผล หลังเศรษฐกิจฟื้น-ฐานะกองทุนแกร่ง-สำรองหนา พร้อมยกเลิกลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ 0.23% สั่งธนาคารกลับมาจ่ายปกติ 0.46% เริ่มปี’66

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้น แม้การฟื้นตัวไม่เท่ากัน แต่ภายใต้สถานการณ์ที่ดีขึ้น และสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง มีระดับเงินกองทุน (BIS) แข็งแกร่ง และสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง

ดังนั้นความจำเป็นของมาตรการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อช่วยผลกระทบจากโควิด-19 ในวงกว้าง (broad-based) ควรลดลง และทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization)

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังคงผลักดันมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบันที่มีหลากหลายให้สามารถดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว พักทรัพย์พักหนี้ ที่สนับสนุนผู้ประกอบการสามารถโอนทรัพย์และซื้อคืนได้ รวมถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เป็นต้น

รวมถึงมุ่งเน้นการช่วยเหลือเฉพาะจุด (targeted) โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นผ่านมาตรการดูแลลูกหนี้รายย่อย เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้า

ยกเลิกจำกัดการจ่ายปันผล-สั่งกลับมานำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูฯ 0.46%

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ธปท.ได้มีมาตรการช่วยเหลือแบบปูพรมในวงกว้างโดยการพักชำระหนี้ เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว และหลังจากนั้นได้ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเน้นช่วยเหลือลูกหนี้ที่เดือดร้อน เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน หรือมาตรการพักทรัพย์พักหนี้

อย่างไรก็ดี เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวชัดเจนในต้นปี 2566 ธปท.จึงปรับหลักเกณฑ์ ได้แก่ 1.ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล จากเดิมที่จำกัดอัตราการจ่ายไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิประจำปี เนื่องจากผลการทดสอบระดับเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายใต้ภาวะวิกฤต (stress test) โดยมองถึงภาวะเศรษฐกิจ คุณภาพลูกหนี้ และความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์

พบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) อยู่ในระดับสูงถึง 20% จากเกณฑ์กำหนด 8.5% ถือว่าธนาคารสะสมเงินกองทุนค่อนข้างสูง ขณะที่เงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 165% เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า รวมถึงสภาพคล่องรองรับวิกฤต (LCR) สูงถึง 192.5% จากเกณฑ์กำหนดอยู่ที่ 100% ดังนั้น มั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินมีกันชนเพียงพอรองรับ

“เหตุผลที่เรายกเลิกการจำกัดเงินปันผล เนื่องจากผลการทดสอบ stress test ที่ออกมาแบงก์มีความแข็งแกร่ง และหากเราคงไว้จะกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหรือเรตติ้งต่าง ๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้กำกับดูแลในต่างประเทศที่ยกเลิกมาตรการไปแล้ว อย่างไรก็ดี การจ่ายปันผลเรายังให้ธนาคารยึดหลักการพิจารณาแบบระมัดระวัง รวมถึงการขออนุญาตจาก ธปท.ในกรณีซื้อหุ้นคืนจะต้องมีการทำ Capital Plan”

สั่งแบงก์กลับมานำส่งเงินกองทุนฟื้นฟูฯ 0.46% ตั้งแต่ปี’66

และ 2.ให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาจ่ายเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป จากที่เคยปรับลดลงเหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อให้สถาบันการเงินส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปช่วยเหลือลูกหนี้ในรูปแบบต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ การนำส่งเงินเข้า FIDF ที่อัตรา 0.23% ยังมีผลถึงสิ้นปี 2565 ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะยังต้องให้ความสำคัญต่อการส่งผ่านต้นทุนในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

“การให้แบงก์กลับมาจ่ายเงินนำส่ง FIDF ในอัตรา 0.46% ภายใต้สถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราคำนึงถึง แต่เราได้พิจารณาและนำแฟกเตอร์เรื่องดอกเบี้ย กับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามาในไตรมาสที่ 4 ซึ่งสอดคล้องกับที่แบงก์ยังส่งเงินอยู่ที่ 0.23% ถึงสิ้นปี

รวมถึงเราอยากให้การลดหนี้เงินกองทุนเป็นไปตามเป้าหมาย และไม่เป็นภาระของภาครัฐในระยะยาว อย่างไรก็ดี เรายังคงติดตามการส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงในการช่วยเหลือลูกค้า และผลจากการปรับเงินนำส่งสู่ระดับปกติ”

ยืดมาตรการบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลพยุงกลุ่มเปราะบาง

นางสาวสุวรรณีกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ธปท.มีความเป็นห่วงกลุ่มที่มีความเปราะบาง กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย โดยเป็นกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ธปท.จึงได้ขยายมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลลูกหนี้รายย่อยที่มีความเปราะบาง เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล รวมถึงสินเชื่อบุคคลดิจิทัลพีโลน ดังนี้

โดยคงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำอยู่ที่ 5% ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2566 และเพิ่มเป็น 8% ในปี 2567 โดยให้กลับสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 1 ปี ออกไปจนถึงสิ้นปี 2566 จากเกณฑ์ปกติที่กำหนดไว้ 6 เดือน ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนในกลุ่มเปราะบาง

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งจะทำการเพิ่มทางเลือกในการผ่อนชำระ เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังในการชำระหนี้สามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น และเตรียมการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้

“ลูกค้ากลุ่มเปราะบางจะเห็นว่ากลุ่มที่ไม่มีหลักประกันจะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่มีหลักประกัน รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งไม่ใช่กลุ่มลูกค้ารายย่อยทั้งหมด ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับแบงก์ และเรารู้ว่ากลุ่มไหนเปราะบาง ส่งผลให้เอ็นพีแอลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นการช่วยเหลือต่อเราจึงมีมาตรการมาช่วยปิดจุดหรือช้อนกลุ่มนี้ และหากดูลูกหนี้รายย่อยมากกว่า 60% จะไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะเป็นอัตราคงที่ (Fixed Rate) และจากมาตรการนี้ เราจึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดหน้าผาเอ็นพีแอล (NPL Cliff) เพราะเรามีมาตรการแก้หนี้ก่อนและหลังเป็นเอ็นพีแอล”

ผลักดันมาตรการเดิม

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า นอกจากมาตรการเสริมในกลุ่มเปราะบางที่จะทำแล้ว ธปท.ยังคงผลักดันผ่านมาตรการที่ยังมีผลอยู่ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างหนี้เดิม การเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจ ทั้งมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ช่วยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนไปจนถึงสิ้นปี 2566

และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนทรัพย์มาชำระหนี้ได้ โดยให้สิทธิซื้อคืนภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 และการเพิ่มสภาพคล่องภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อรองรับการฟื้นตัวและการปรับตัวของธุรกิจ ซึ่งจะสามารถใช้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ได้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566

ชี้เศรษฐกิจฟื้น เร่งสะสม Policy space

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินมาตรการช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมาเพื่อรองรับช็อกที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ที่ถือเป็นช็อกใหญ่ ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 ลงไปลึก -6.2%

โดยจะเห็นเศรษฐกิจลงไปอยู่จุดต่ำสุดถึง -10% และจากการปิดเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลังไม่เข้ามา ทำให้การบริโภคไม่ขยายตัวในปี’63-64 และส่งผลให้มีจำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงานรวมกันมีถึง 3.3 ล้านคน ทำให้การทำนโยบายการเงินจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเศรษฐกิจฟื้นตัว และทำให้เศรษฐกิจไม่สะดุด

อย่างไรก็ดี หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยคาดว่าปีนี้ขยายตัว 3.3% และปี’66 อยู่ที่ 4.2% ซึ่งถือว่าเป็นระดับมากกว่าระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับมาได้ปีนี้ 6 ล้านคน และปีหน้าอยู่ที่ 19 ล้านคน ทำให้การว่างงาน เสมือนว่างงานกลับมาดีขึ้น ขณะที่ระบบสถาบันการเงินดูจากตัวเลขสินเชื่อไตรมาสที่ 1/65 กลับมาขยายตัว 7% ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่เกิดโควิด-19

“มาตรการทางการเงินจำเป็นต้องปรับไปสู่ระดับปกติมากขึ้น เพราะหากปล่อยไว้ นาน ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงได้ จึงจำเป็นต้องทำให้การทำนโยบายการเงินกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (Policy space) ที่จำเป็นต้องสะสมมีความจำเป็นมากขึ้นในระยะถัดไป”