“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” เผยวิกฤตค่าเงินจ๊าตในเมียนมา ทางการสั่งพักชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย
วันที่ 19 กรกฏาคม 2565 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์ค่าเงินจ๊าต ประเทศเมียนมา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศให้บริษัทและธนาคารในเมียนมา หยุดพักการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
ข้อความโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า วิกฤตค่าเงินจ๊าต !!! วันนี้ ขอพักจากวิกฤตโลกหนึ่งวัน ข้าง ๆ บ้านเราอีก 1 ประเทศที่กำลังมีปัญหากับเรื่องค่าเงิน ก็คือ เมียนมา ล่าสุด จำเป็นต้องประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้บริษัทและธนาคารในเมียนมา หยุดพักการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ !!!
หลังจากช่วงเดือนเมษายน ได้สั่งให้บริษัทต่าง ๆ แลกเงินตราต่างประเทศที่มี ไปสู่เงินจ๊าตภายใน 24 ชม. และได้ประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่าง ๆ ทั้งหมด เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินจ๊าต ที่อ่อนค่าลงมามากจาก 1,325 จ๊าต/ดอลลาร์ มาเป็น 1,850 จ๊าต/ดอลลาร์ (อัตราที่ทางการประกาศ) หรือลดลงอย่างน้อยประมาณ 30% ในตลาดมืด (black market) มีข่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 2,200 จ๊าต/ดอลลาร์
นอกจากนี้ นโยบายที่ประกาศออกมา ยังจะช่วยลดการไหลออกของเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่มีอยู่ไม่มาก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเท่าที่ประกาศออกมา เมื่อมีนาคม 2564 (1 ปีที่แล้ว) เมียนมามีเงินสำรองอยู่เพียง 7.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
แต่จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดในช่วงที่ผ่านมา ที่ล่าสุด ADB ประมาณไว้ที่ -1.1% ของ GDP การไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว การที่ไม่มี FDIs ไหลเข้า การต้องจ่ายชำระคืนดอกเบี้ยและหนี้ต่างประเทศที่มียอดคงค้างประมาณ 16% ของ GDP หรือประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศของเมียนมา จึงลดลงไปพอสมควร เงินที่ไหลออกจึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ นำมาซึ่งนโยบายต่าง ๆ ที่ประกาศออกมา
ทั้งหมดนี้ เศรษฐกิจเมียนมายังต้องปรับตัวเพิ่มอีกมาก เพราะจากข้อมูล ADB พบว่า เมื่อปีที่แล้ว เมียนมา GDP ติดลบ -18.4% เงินเฟ้ออยู่ที่ 12.63% เมื่อธันวาคมที่แล้ว ซึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อปัจจุบันคงเพิ่มไปอีกพอสมควร
ทั้งนี้ มาตรการจำกัดเรื่องเงินตราต่างประเทศที่ทางการได้ประกาศออกมา กำลังส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของหลายบริษัท ที่ไม่สามารถหาเงินตราต่างประเทศไปชำระค่านำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังยอดการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจต่อไป