สัมภาษณ์
ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้บริหารหญิงคนแรก เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา “อนุชา ทวารัจจ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำภูมิภาค อลิอันซ์ เอเชีย-แปซิฟิก (Allianz) ได้เข้ามารับหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารงานและวางกลยุทธ์การเติบโตของกลุ่มอลิอันซ์ในเอเชีย 11 ประเทศ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ ระหว่างการเดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้
ชู “อลิอันซ์ ไทย” หัวหอก
“อนุชา” กล่าวว่า อลิอันซ์ดำเนินธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก 11 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, ไทย, มาเลเซีย, จีน, ฟิลิปปินส์, ศรีลังกา, สิงคโปร์, สปป.ลาว, ญี่ปุ่น และอินเดีย (ญี่ปุ่นและอินเดียไม่ได้ดูแลโดยตรง) มีฐานลูกค้ารวม 11 ล้านคน มีตัวแทนประกันชีวิตกว่า 100,000 คน และมีพนักงาน 8,000 คน ซึ่งรวมทุกประเทศ มีเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพ (life & health) รวม 6,972 ล้านยูโร (2.56 แสนล้านบาท)
โดยไทยอยู่อันดับที่ 4 มีเบี้ยรับรวม 848 ล้านยูโร (3.1 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ประกันภัยทรัพย์สินและเบ็ดเตล็ด (property & casualty) มีเบี้ยรับรวม 1,450 ล้านยูโร (5.33 หมื่นล้านบาท) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 3 มีเบี้ยรับรวม 151 ล้านยูโร (5,500 ล้านบาท) (ข้อมูลปี 2021)
“เรามีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ประมาณ 15% และคาดหวังจะให้โตไปเช่นนี้ ซึ่งปัจจุบันเราอยู่อันดับ 7 ต้องการขึ้นไปเป็นอันดับ 5 ในเอเชียให้ได้ ถือเป็นเป้าที่ยิ่งใหญ่และตั้งใจจะไปให้ถึง”
โดยไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญมาก ซึ่งในปี 2564 อลิอันซ์ไทยเป็นอันดับ 1 ในการสร้างผลกำไรให้กับอลิอันซ์ เอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ กว่า 50% ของประชากรโลกอยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยเบี้ยประกันทั้งระบบในภูมิภาคนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นโอกาสมหาศาล โดยอลิอันซ์คาดหวังจะเพิ่มจำนวนลูกค้าจากที่มี 11 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน ให้ได้ภายในปี 2025 เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีความคุ้มครองชีวิตที่ดีขึ้น
“เราตั้งใจอยากจะเป็นที่ 1 ในใจลูกค้า เพราะนั่นคือแบรนด์ที่ลูกค้าเลือก โดยเครื่องมือชี้วัดความพึงพอใจ (NPS) พบว่า มี 7 ประเทศที่ลูกค้าบอกว่าอลิอันซ์เป็นบริษัทที่ให้การบริการที่ดีที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมอลิอันซ์ไทย”
ควบรวม “เอ็ทน่า” ขึ้นท็อป 7
“อนุชา” กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญดอกเบี้ยขาขึ้น และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากอัตราเงินเฟ้อสูง แต่อุตสาหกรรมประกันภัยกลับเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เพราะช่วงเวลานี้ลูกค้าจะยิ่งหาหลักประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ โดยบทบาทหน้าที่ของเราคือการเข้าไปให้ความคุ้มครอง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคนขายจะต้องขายสินค้าที่ถูกต้องและเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย
โดยอลิอันซ์ไทย มุ่งเน้นโตผ่านช่องทางตัวแทน จุดยืนสำคัญ คือการให้บริการด้านประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และประกันสุขภาพ ซึ่งล่าสุด ได้เข้าซื้อบริษัทประกันสุขภาพจากเอ็ทน่าประเทศไทย (Aetna) ทำให้มีฐานลูกค้า 1.9 ล้านคน แบ่งเป็นลูกค้าอลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต 1 ล้านคน และอลิอันซ์อยุธยาประกันภัยอีก 9 แสนคน
“เราสามารถขายประกันแบบ cross-sell ให้กันได้ ในขณะที่แบรนด์อื่นทำไม่ได้ แม้ปี 2564 ธุรกิจจะโตได้แค่ 2% แต่ปี 2565 คาดหวังจะโตให้มากกว่าเดิม และต้องมากกว่าตลาด โดยกลยุทธ์ คือการโตของจำนวนตัวแทน การขาย cross-sell และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน”
ทั้งนี้ จากการควบรวมกิจการ จะทำให้อลิอันซ์อยุธยาประกันภัย (AAGI) ขึ้นเป็นอันดับที่ 7 ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยทันที โดยมีขนาดเบี้ยรับรวม 9,000 ล้านบาท ลูกค้ารวม 9.5 แสนกรมธรรม์ และมีพนักงานรวมกันเป็น 700 คน ซึ่งกระบวนการน่าจะสิ้นสุดในปลายปี 2566
ผนึกกำลัง “กลุ่มอลิอันซ์”
สำหรับในปี 2565 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. บริษัทจ่ายเคลมประกันสุขภาพไปทั้งหมด 4,500 ล้านบาท แยกเป็นโรคทั่วไป 3,600 ล้านบาท และโรคโควิด-19 อีก 900 ล้านบาท แม้ว่าจะมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้ทำให้บริษัทสูญเสียความมั่นคง เพราะยังมีเงินสำรองมากเพียงพอและยังอยู่ในจุดที่มีกำไร
โดยผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 แม้ว่ากำไรและเบี้ยประกันรับจะอ่อนตัวลง แต่ไตรมาส 2/2565 เชื่อว่าจะดูดีขึ้นกว่าเดิม โดยอลิอันซ์ตั้งเป้าหมายปี 2565 เบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ จะโต 6.5% จากปีก่อน ตัวแทนใหม่เพิ่ม 6,000 คน ซึ่งบริษัทจะลงทุนสร้างเครื่องมือเทคโนโลยีให้ตัวแทนและพนักงานแบงก์เสนอขายได้สะดวกขึ้นอีก รวมถึงจับมือกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก รวมตัวเชื่อมแพลตฟอร์ม API กับโรงพยาบาลให้ลูกค้าเคลมได้ง่ายและเร็วที่สุด
“11 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก มีความท้าทายที่แตกต่างกัน แต่เมื่อใดที่ประเทศใดอ่อนแอ เราก็จะมีประเทศอื่น ๆ ช่วยดันผลงานไว้ และการทำงานของเรา คือการทำงานเป็นหนึ่งเดียว แม้ตอนนี้เรายังไม่มีธุรกิจในเวียดนามและเมียนมา แต่หากในอนาคต เรามองเห็นโอกาสทางธุรกิจก็เป็นไปได้” ซีอีโอหญิงประจำภูมิภาคแห่งอลิอันซ์ เอเชีย-แปซิฟิกกล่าวทิ้งท้าย