แบงก์ อุ้มธุรกิจไทยในเมียนมา ขยายเวลาจ่ายคืนหนี้ 3-6 เดือน

MYANMAR-POLITICS-MILITARY
Photo by AFP

เอฟเฟ็กต์ธนาคารกลางเมียนมาสั่งบริษัทเอกชน-รายย่อยระงับชำระหนี้ต่างประเทศ “เอ็กซิมแบงก์” เผยธุรกิจสินค้าอุปโภคและบริโภคเจอผลกระทบโดยตรง แบงก์ช่วยลูกค้าขยายงวดชำระหนี้ออกไป 3-6 เดือน หั่นวงเงินสินเชื่อ-ลดเครดิตเทอมสินเชื่อใหม่ จับตา “คาราบาว-โอสถสภา” สัดส่วนรายได้จากเมียนมามากกว่า 10%

กระทบลงทุนเมียนมา

ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามประกาศของธนาคารกลางเมียนมา เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2565 แจ้งคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาระงับการชำระหนี้เงินกู้ด้วยเงินสกุลต่างประเทศ

โดยให้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา แจ้งบริษัทที่ต้องชำระเงินกู้ด้วยเงินสกุลต่างประเทศดำเนินการต่อรอง ผ่อนผัน หรือขยายการชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศออกไป โดยให้เหตุผลว่าต้องการสงวนเงินสกุลต่างประเทศไว้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของการอ่อนค่าของเงินเมียนมาจ๊าตที่อ่อนค่าไปมาก

ผลกระทบจากประกาศดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใหม่ในเมียนมา ที่จำเป็นต้องใช้เงินกู้จากต่างประเทศ ครอบคลุมบริษัทท้องถิ่นและต่างประเทศที่อยู่ในเมียนมา ที่มีเงินกู้เป็นสกุลต่างประเทศ จะไม่สามารถชำระหนี้กู้จากธนาคารพาณิชย์ในเมียนมาไปยังเจ้าหนี้ที่อยู่ในต่างประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องสรรหาแหล่งเงินจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการชำระหนี้เงินกู้แทน เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

หาแหล่งเงินกู้ใหม่ใช้หนี้แทน

ดร.ธนวุฒิกล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการไทยที่มีธุรกิจในเมียนมาและมีการกู้เงินเป็นสกุลต่างประเทศจะได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าว จำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในไทยหรือต่างประเทศ เพื่อใช้ในการชำระเงินกู้สกุลต่างประเทศ แทนการชำระคืนเงินกู้โดยใช้ธนาคารพาณิชย์ในเมียนมา เพื่อป้องกันการผิดนัดชำระหนี้

“แนวทางของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดย สคต. กรุงย่างกุ้ง สามารถเป็นตัวกลางประสานกับธนาคารพาณิชย์ของไทย ในการจัดหาวงเงินกู้เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาที่จำเป็นต้องชำระเงินกู้ต่างประเทศ สามารถใช้วงเงินกู้จากไทย หรือต่างประเทศ เพื่อนำไปชำระหนี้ต่างประเทศ แทนการชำระหนี้มาจากเมียนมา เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้น”

ไทยลงทุนเมียนมา 1.75 แสนล้าน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการลงทุนของไทย ที่มีในเมียนมาประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับ สปป.ลาว ที่มีการลงทุนมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขนาดการลงทุนในเมียนมาจึงยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

ทั้งนี้การลงทุนในเมียนมาของไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.กลุ่มพลังงาน มีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของภาพรวม ในส่วนนี้สามารถอุ่นใจได้ว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะการชดใช้หนี้เป็นเรื่องการซื้อขายไม่ได้เป็นการจ่ายชำระคืนเงินกู้ ซึ่งคำสั่งของธนาคารกลางเมียนมาไม่มีผลต่อการซื้อขาย ไม่ว่าจะเมียนมาขายไปไทย หรือไทยขายไปเมียนมา เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสภาพของเงินกู้

“กรณีการปล่อยกู้ให้กับโรงไฟฟ้า เช่น บริษัท โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น ไม่ได้เป็นการจ่ายเงินกู้เป็นงวด ๆ แต่เป็นการขายไฟให้รัฐบาลเมียนมา โดยรัฐบาลเมียนมาจะเอาเงินใส่ในบัญชีเอ็กซิม ซึ่งเป็นการซื้อไฟในแต่ละเดือนจากบริษัท โดยทางเอ็กซิมก็จะตัดส่วนที่เป็นหนี้ของเราออกมา แล้วทอนเงินที่เหลือไปให้บริษัท ลักษณะการกำหนดวงเงินเช่นนี้ทำให้ไม่อยู่ในขอบเขตที่ธนาคารกลางเมียนมาออกนโยบายมา”

EXIM ยืดชำระหนี้ช่วยลูกค้า

นายรักษ์กล่าวว่า ธุรกิจไทยในเมียนมาส่วนที่ 2 จะเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ซึ่งจะเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของธนาคารกลางเมียนมา โดยเอ็กซิมแบงก์ก็มีวิธีการดูแลลูกค้าที่ขายสินค้าไปแล้วเก็บเงินไม่ได้ หรือบางรายไปลงทุนในเมียนมา เช่น ลงทุนศูนย์กระจายสินค้า และมีสัญญาเงินกู้ที่จะต้องชำระหนี้ในทุก ๆ เดือน

“ส่วนนี้เอ็กซิมแบงก์จะช่วยลูกค้า ด้วยการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป จากเดิมที่จะต้องมาชำระหนี้ทุกเดือน ก็ขยายเวลาออกไปเป็นชำระหนี้ทุก 3 เดือน/ครั้ง หรือ 6 เดือน/ครั้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการรอให้สถานการณ์คลี่คลายลง”

นายรักษ์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี นักธุรกิจเมียนมาส่วนใหญ่จะมีบัญชีต่างประเทศ ฉะนั้นการชำระหนี้ในหลาย ๆ ครั้ง ไม่ได้เป็นการกระทำในเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้ผ่านสิงคโปร์ เนื่องจากนักธุรกิจเมียนมาส่วนใหญ่มีฐานทุนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอยากให้มองในมุมที่ไม่ได้แย่

เพราะเอ็กซิมแบงก์มีประสบการณ์ทำธุรกิจในเมียนมามากว่า 20 ปี ถือเป็นประเทศที่ไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้ แต่อาจจะขอชะลอการชำระหนี้บ้าง ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ก็เป็นภาพที่ธนาคารคุ้นชินอยู่แล้ว โดยเชื่อว่าบรรยากาศดังกล่าวนี้จะคลี่คลายลงได้

หั่นวงเงินสินเชื่อ-ลดเครดิตเทอม

นายรักษ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจกับเมียนมานับจากนี้ไป เอ็กซิมแบงก์จะแนะนำลูกค้าในการขยายเวลางวดการผ่อนชำระตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้จะปรับวงเงินการให้สินเชื่อเล็กลง โดยจากเดิมเคยให้วงเงินการซื้อขายครั้งละเริ่มต้น 5 ล้านบาท ก็จะลดลงให้เหลืออยู่ 1 ล้านบาท และให้ระยะเวลาสั้นลงจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน เพื่อเป็นการตรวจสอบความสามารถของธุรกิจด้วย

ทั้งนี้ลูกค้าของเอ็กซิมแบงก์ที่ไปลงทุนในเมียนมามี 7 ราย มูลค่า 2,000 ล้านบาท โดย 4 บริษัท เป็นกลุ่มพลังงาน ส่วนกลุ่มอุปโภคบริโภค 3 ราย โดยธนาคารก็ปรับงวดการชำระเงินให้ ตั้งแต่ 3-6 เดือน/ครั้ง อย่างไรก็ดี ตอนนี้ทั้ง 3 บริษัทก็ยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะบริษัทไม่ได้ชำระเงินในประเทศที่ไปลงทุนแหล่งเดียว ยังมีวิธีการชำระเงินนอกประเทศด้วย

BBLกระทบไม่มากลุ้นไม่ลากยาว

ด้าน นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากประเด็นดังกล่าว ในส่วนของแบงก์ที่มีสาขาในกรุงย่างกุ้ง ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากยอดสินเชื่อ off shore loan หมายถึงบริษัทขนาดใหญ่เงินกู้จากต่างประเทศ มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยมาก

เมื่อเทียบกับพอร์ตสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ประกอบกับลูกค้าที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศหลายบริษัท ทำให้มีสัดส่วนเงินกู้ของธนาคารกรุงเทพไม่มากนัก จึงไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ

ประกอบกับในช่วงที่เมียนมามีปัญหาความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศ ธนาคารก็มีการบริหารจัดการสินเชื่อค่อนข้างระมัดระวังอยู่แล้ว ขณะที่ลูกค้าของธนาคารก็มีศักยภาพและแข็งแรง ไม่ได้มีประเด็นเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ ดังนั้นตอนนี้ก็อาจจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการ คือ ผ่อนผันการชำระหนี้ไปก่อน ซึ่งเมื่อภาครัฐให้กลับมาจ่ายได้ก็จะเป็นปกติ ตอนนี้ก็ต้องติดตามสถานการณ์ของทางการอย่างใกล้ชิด

เล็งขอหลักประกันเพิ่ม

“อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลากยาว ก็มีวิธีการอื่นในการบริหารจัดการหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้เป็นสกุลเงินท้องถิ่น หรือการวางประกันเพิ่มเติม ซึ่งโดยปกติลูกค้าเหล่านี้แข็งแรงและมีหลักประกันเพียงพออยู่แล้ว”

นายไชยฤทธิ์กล่าวว่า ปัจจุบันทางการเมียนมาพยายามรักษาเรื่องของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากลดลงและค่อนข้างฝืด โดยการพยายามส่งออกสินค้า เช่น สินค้าเกษตร ข้าว เป็นต้น เพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศกลับเข้าประเทศ จึงมองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะลากยาว

เพราะหากดูการฟื้นตัวของภาคการผลิตเริ่มกลับมาดีขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงคาดว่านโยบายการระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศน่าจะไม่ลากยาวมากนัก

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า กรณีนี้ไม่น่ามีผลกระทบโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในเมียนมา เพราะมียอดปล่อยสินเชื่อไม่ถึง 0.5% ของสินเชื่อรวม แต่อาจมีผลกระทบโดยอ้อมจากลูกหนี้ธุรกิจที่มียอดขายในเมียนมาสัดส่วนที่สูง จากการไม่สามารถนำเงินกลับมาได้เพราะคู่ค้าไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนหนี้ไทยได้

คาราบาว-โอสถสภารายได้ 10%

ขณะที่ นางสาวณัฏฐ์วริน ไตรภพสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า จากที่ประเมินบริษัทจดทะเบียนไทยที่ทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาอาจจะมีไม่มาก หลัก ๆ เช่น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) และ บมจ.โอสถสภา (OSP) ที่มีสัดส่วนยอดขายมากกว่า 10%

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ๆ ที่มียอดขายและลูกค้าเมียนมา เช่น บมจ.วินท์คอม เทคโนโลยี (VCOM) มียอดขายน้อยกว่า 5%, บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มียอดขายน้อยกว่า 1% ส่วน บมจ.บำรงราษฎร์ (BH) ไม่มีธุรกิจในเมียนมา แต่มีรายได้จากคนไข้เมียนมาประมาณ 5%, บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) มีรายได้จากคนไข้เมียนมาน้อยกว่า 1% ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินบาท

นางสาวณัฏฐ์วรินกล่าวด้วยว่า คำสั่งที่ออกมาเป็นการระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ดังนั้นไม่น่าจะเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจและเจ้าหนี้การค้า เพราะเป็นการซื้อมาขายไป อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมไปยังแต่ละบริษัท เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อไป

OSP แจงแผนเจรจาเจ้าหนี้

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โอสถสภา เปิดเผยว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้นำเครื่องดื่มให้พลังงานอันดับหนึ่งในประเทศเมียนมา ภายใต้แบรนด์ชาร์ค ที่ครองใจผู้บริโภคมากว่า 25 ปี และแบรนด์เอ็ม-150 จากการที่ธนาคารกลางเมียนมาประกาศคำสั่งไปยังภาคเอกชนให้ระงับชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ในต่างประเทศนั้น

มาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของโอสถสภาในเมียนมา บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สำหรับการลงทุนในเมียนมา เป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในประเทศไทยเเละสถาบันการเงินในประเทศเมียนมา ทั้งนี้ การชำระหนี้จะมีการเจรจากันภายใต้เงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างบริษัท และสถาบันการเงินต่อไป

แม้ว่าจะมีความผันผวนด้านค่าเงิน แต่ธุรกิจของบริษัทยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้การซื้อขายในเมียนมาสามารถทำได้ในหลายสกุลเงินมากขึ้น ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป