ผู้ว่าฯแบงก์ชาติยันขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง สกัดเงินเฟ้อควบคู่ฟื้นเศรษฐกิจ

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติลั่นขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อไม่จบครั้งเดียว ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ดูแลเศรษฐกิจไม่ให้สะดุด ชี้สัญญาณฟื้นตัวเริ่มชัด คาด Q2 โตเกิน 3% ยันไม่ประชุม กนง.นัดพิเศษ ไม่ห่วงส่วนต่างดอกเบี้ยทำเงินไหลออก โต้ทุนสำรองลดลงไม่ได้เกิดจากแทรกแซงค่าเงินอย่างเดียว

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Meet the Press” ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ว่า ตอนนี้บริบทเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงจาก 2 ปีก่อนที่ถูกกระทบรุนแรง ทำให้อัตราขยายตัวของจีดีพีหดตัว -6.2% เงินเฟ้อแทบจะเป็น 0% แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก จากสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทั้งมิติจีดีพีที่ปีก่อนขยายตัว 1.5% ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 3.3% ปีหน้า 4.2% หากดูไตรมาสแรกปีนี้จีดีพีขยายตัว 2.2% ก็ดูฟื้นต่อเนื่อง น่าจะเติบโตได้สูงกว่า 3%

ในแง่รายได้สะท้อนผ่านอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภคปีก่อนหดตัว -1.6% ขณะที่ไตรมาส 1 ปีนี้กลับมาเติบโต 2% ดัชนีการบริโภคขยายตัวสูง 2.9% คาดไตรมาส 2 จะขยายตัวสูงกว่า 9% น่าจะออกมาดี โดยสัญญาณรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งรายได้ภาคเกษตรไตรมาส 1 ขยายตัว 6.6% คาดไตรมาส 2 ขยายตัวได้กว่า 16% รายได้นอกภาคเกษตรก็เติบโต 9% ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวต่อเนื่องช่วยพยุงการบริโภคกลับมา

“สัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ตัวไดรฟ์จริง ๆ คือ นักท่องเที่ยว ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6 ล้านคน แต่จากสัญญาณน่าจะมี upside พอสมควร ซึ่งจะช่วยพยุงรายได้และการบริโภค หากไม่มีการกลายพันธุ์จนเกิดล็อกดาวน์คาดว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นต่อเนื่อง”

ขึ้น ดอกเบี้ยสกัด เงินเฟ้อค้างนาน

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า เมื่อสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น แต่จะเห็นสัญญาณเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ล่าสุดตัวเลขสูงกว่า 7% สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% เป็นสิ่งที่ ธปท.เป็นห่วง ดังนั้น โจทย์นโยบายการเงินก็ต้องเปลี่ยน โดยจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ไม่สะดุด (smooth take off) เป็นโจทย์ที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่เน้นให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรง soft landing โดยคุมเงินเฟ้อไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งต่างจากไทย

“เราอยู่ในโหมดที่ฟื้นตัวไม่เต็มที่ คาดจีดีพีจะกลับไปโตเท่าก่อนโควิด-19 น่าจะเป็นไตรมาส 1 ปี 2566 ถือว่าช้าสุด เมื่อเทียบอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซียที่ฟื้นกลับมาแล้ว”

การคุมเงินเฟ้อไม่ได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไปต่อไม่ได้ จะกระทบกำลังซื้อในกลุ่มคนเปราะบาง หรือหากปล่อยเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ โอกาสที่เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดจะส่งผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วย แม้ในระยะยาวยังคงอยู่ในกรอบ และสภาพการเงินตึงตัว ระบบสถาบันการเงินไม่ทำงาน จึงเป็นโจทย์ที่ ธปท.ต้องเข้าไปดูแล”

ดังนั้น วิธีการดูแลไม่ให้การคาดการณ์หรือเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดคือ ปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ย แม้จะไม่ช่วยเรื่องราคาน้ำมัน แต่จะช่วยการบริโภคที่มีผลกับดอกเบี้ยชะลอตัว คาดว่าเงินเฟ้อจะเข้ากรอบ 1-3% ในปี 2566

ขึ้นดอกเบี้ยค่อยเป็นค่อยไป

การปรับขึ้นดอกเบี้ยต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยผลจากดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผ่านสถาบันการเงิน และตลาดพันธบัตร (บอนด์) อาจต้องใช้เวลา แต่จะมีผลต่อการคาดการณ์ทันที โดยจะสร้างความเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะดูแลเสถียรภาพราคาและให้เงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบตลอดเวลา แม้ในระยะสั้นจะหลุดกรอบ แต่ในระยะปานกลางและยาวยังคงอยู่ในกรอบ

“การ take action คือ การขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นแบบครั้งเดียวแล้วจบ ต้องปรับเข้าสู่สภาวะปกติ ตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ เราไม่ได้เหยียบเบรก แต่เป็นการถอนคันเร่ง แต่ผมจะไม่พูดว่าจะทำเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า เพราะสมมุติราคาน้ำมันขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางในโลกคุมไม่ได้ จะทำให้เงินเฟ้อลง เราต้องดึงเศรษฐกิจลงมหาศาล เพื่อให้ราคาน้ำมันลง เราจะบาลานซ์ว่าเงินเฟ้อมาจากไหน เราไม่ต้องทำตามกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเราเทียบกับผลภาระจากการขึ้นดอกเบี้ยกับเงินเฟ้อ พบว่า เงินเฟ้อสูงขึ้นจะกระทบภาระมากกว่าดอกเบี้ยถึง 7 เท่า”

ยันทุนสำรองลดจากหลายปัจจัย

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า นโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทำให้มีความจำเป็นในการเข้ามาพยุงเงินบาทมีน้อยลงมาก ไม่เหมือนปี 2540 สิ่งที่ ธปท.ห่วงและไม่อยากเห็น คือการอ่อนค่าเร็ว

ซึ่งตัวเลขการเปลี่ยนแปลงทุนสำรองระหว่างประเทศมาจาก 3 เรื่องสำคัญคือ 1.ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุน หากติดลบ ทุนสำรองก็ลดลงด้วย 2.การตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุน ในช่วงที่ดอลลาร์แข็งค่า สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ ก็จะอ่อนค่า ทำให้มูลค่าอาจลดลง ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของทุนสำรอง เพราะธนาคารกลางมักถือหลายสกุลเงิน และ 3.การดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินบาทไม่ให้ผันผวน

หากดู 3 ปัจจัย พบว่า ทุนสำรอง ธปท.ลดลงช่วงที่ผ่านมา มาจากการตีมูลค่าสินทรัพย์กลับมาอยู่ในรูปของดอลลาร์เป็นหลัก เพราะดอลลาร์แข็งค่า การซื้อขายทองคำก็มีส่วนต่อการแข็งค่าอ่อนค่าของเงินบาท

“ทุนสำรองที่ลดลงมาจากหลายปัจจัย ปี 2540 ทุนสำรองมีเพียง 9 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่วันนี้ 2.47 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าหนี้ระยะสั้นถึง 2.6 เท่า ทุนสำรองเราถือว่าอยู่อันดับท็อป ๆ 
ของโลก เสถียรภาพเราไม่น่าห่วง”

ไม่ตั้งเป้าค่าเงิน-ไม่พบเก็งกำไร

ธปท.ไม่ได้มีเป้าว่าอัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ที่เท่าไหร่ ปล่อยให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือการปรับตัวเร็วเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน บางช่วง ธปท.ต้องเข้าไปดูแลเสถียรภาพด้านราคา แต่ที่จับตาคือ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลเข้าแบบไม่มีที่มาที่ไป จำเป็นต้องดูว่าเงินไหลเข้ามาจากไหน แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท

ไม่กังวลส่วนต่างดอกเบี้ย

แนวโน้มเงินบาทปัจจุบันที่อ่อนค่าเป็นผลจากส่วนอัตราดอกเบี้ยไทยสหรัฐที่กว้างขึ้นหรือไม่ ทำให้เงินทุนไหลออก ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทมาจากหลายปัจจัย หากดูหลายประเทศที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐก็ยังเจอกับเงินทุนไหลออก เช่น อินเดียมีส่วนต่างดอกเบี้ย 3.15% แต่ยังคงมีเงินไหลออกสูงถึง 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์ อินโดนีเซียมีส่วนต่างสูงกว่าสหรัฐ 1.75% ก็มีเงินไหลออกสูงถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น “ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย” อาจไม่ใช่ตัวที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเสมอไป

หากดูเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยเวลานี้ นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน พบว่า ยังเป็นการไหลเข้าสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ 3,500 ล้านดอลลาร์ สะท้อนว่า เรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่คีย์หลักที่ทำให้เงินทุนไหลออก “ฟันด์โฟลว์เป็นตัวหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เงินบาทวันนี้วิ่งอยู่ 36 บาทต่อดอลลาร์ คือราคาของเงินดอลลาร์ เวลาเฟดทำอะไร ดอลลาร์แข็งค่า บาทเราก็อ่อนค่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปัจจัยค่าเงินมาจากต่างประเทศถึง 86% บางช่วงเงินไหลเข้า แต่ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้ จึงไม่เสมอไปที่เงินไหลเข้า บาทจะแข็ง หรือเงินไหลออก บาทจะอ่อน”

กนง.ไม่มีประชุมนัดพิเศษ

ส่วนการประชุมนัดพิเศษก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า หากมีประชุมพิเศษเกิดขึ้นจะต้องมีเหตุการณ์อะไรที่ไม่เหมือนกับที่คาดการณ์ไว้ และจำเป็นต้อง take action เร็วกว่า หากดูตอนนี้สถานการณ์ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์

“เพราะเราฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้าน การคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบ คาดว่าจะถึงจุดสูงสุดที่ไตรมาส 3 ระดับ 7.5% จะทยอยปรับลดลงในไตรมาส 4 ปีนี้ ภาพรวมเหมือนที่คาดการณ์”