รัฐบาลเต้นแก้หนี้ครัวเรือน งัดมาตรการรับมือดอกเบี้ยขาขึ้น

หนี้ครัวเรือน

รัฐบาลห่วงปม “หนี้ครัวเรือน” ช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น บอร์ดแก้วิกฤตเศรษฐกิจให้ความสำคัญดูแลหนี้รายย่อย เล็งร่วมมือแบงก์ปรับโครงสร้างยืดหนี้ผ่อนบ้าน กสิกรฯเผยไตรมาส 2/65 หนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 14.78 ล้านล้านบาท แบงก์ผวาวิกฤตค่าครองชีพฉุดความสามารถชำระหนี้ถดถอย ทีทีบีเตือนดอกเบี้ยขาขึ้นจุดระเบิด “หนี้ครัวเรือน” สมาคมธนาคารเฝ้าระวังหนี้เสี่ยงในโครงการอีก 2.8 ล้านล้านบาท จับตา “หนี้นอกระบบ” ปูด

นายกฯนัดถก 10 รัฐมนตรี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง 10 คน อยู่ระหว่างจัดกรอบวาระการพิจารณา เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ร่วมกับ 10 รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

โดยฝ่ายเลขานุการ คือ ปลัดกระทรวงการคลัง จะจัดลำดับความสำคัญของปัญหาระยะเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหา ภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และระยะกลางในต้นปีหน้า รวมทั้งระยะยาวในปี 2566 คาดว่านายกรัฐมนตรีจะนัดประชุมทีมงานที่เกี่ยวข้องก่อน จากนั้นจะมีการนัดประชุมคณะกรรมการร่วมกับ 10 รัฐมนตรี ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

แพ็กเกจ “ยืด-พักหนี้” บ้าน

สำหรับการบริหารสถานการณ์เฉพาะหน้า คณะอนุกรรมการให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล ในสถานการณ์ดอกเบี้ยขาขึ้น ที่ประชาชนมีภาระผ่อนบ้าน ที่อยู่อาศัย หากจะจัดการปัญหานี้ต้องมีการออกแพ็กเกจทางการเงิน ปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยใช้โมเดลเดียวกับการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก่อนหน้านี้

แนวทางที่เป็นรูปธรรม จะคล้ายกับการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในช่วงปีที่ผ่านมา มาตรการการแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล เช่น การพักหนี้การผ่อนบ้าน อาจจะพักทั้งหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หรือพักเฉพาะเงินต้น แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย เพื่อเป็นการยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ทั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นราย ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันการเบี้ยวหนี้ หรือการชักดาบ โดยคณะกรรมการต้องขอความร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้

เตือนหนี้ครัวเรือนระเบิด

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอะไรที่คาดเดาได้ยาก สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ส่งผ่านมาจากข้างนอก อย่างราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นมาก และเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านไปอีกหลาย ๆ อย่าง สิ่งที่กระทบไทยแน่ ๆ และกระทบแล้วก็คือ “เงินเฟ้อ” ส่วนที่จะกระทบต่อไปก็คือ “ดอกเบี้ย” และสิ่งที่ไม่รู้ว่ารอระเบิดอยู่หรือเปล่า ก็คือ “หนี้ครัวเรือน”

Advertisment

“คนที่เป็นหนี้ครัวเรือน ก็เป็นคนรายได้น้อย ซึ่งคนกลุ่มนี้เมื่อเจอเงินเฟ้อ ก็เท่ากับว่าเงินในกระเป๋าน้อยลง เท่านั้นยังไม่พอ อีกเดี๋ยวดอกเบี้ยก็จะขึ้นอีก คนกลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงที่สุด โดยคนเหล่านี้ก็คือ ลูกค้าของบริษัทต่าง ๆ เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ”

นายปิติกล่าวว่า ในเดือน ส.ค.นี้ อัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นแน่นอน เพราะสัญญาณมาชัดเจนแล้ว ตรงนี้น่ากังวล และต้องมาดูว่าทำอย่างไรจะช่วยกันลดภาระให้คนกลุ่มล่างนี้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาวิกฤตหนี้ครัวเรือนขึ้นมาได้ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยเกิดจึงมีประสบการณ์เรื่องนี้น้อยมาก

Advertisment

แบงก์เร่งแก้หนี้ฝ่ามรสุม

“สิ่งที่ทางสมาคมธนาคารไทยกำลังผลักดันก็คือ การแก้หนี้ครัวเรือน เพราะหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงสุด คือหนี้นอกระบบ และหนี้จากผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) โดยพยายามทำโครงการรวมหนี้ของกลุ่มแบงก์และน็อนแบงก์ เพื่อให้ภาระของลูกหนี้ในการผ่อนต่อเดือนลดลง นอกจากนี้ เจ้าหนี้กับลูกหนี้ก็ต้องเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กัน” นายปิติกล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมแบงก์ ที่ผ่านมามีการเตรียมพร้อมมาเยอะมาก หากเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง แบงก์มีทุนที่แข็งแกร่ง ทำให้ในช่วงวิกฤตโควิดสามารถช่วยประคองลูกหนี้ได้ ต่างกับสมัยต้มยำกุ้ง วิกฤตทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

“ตอนนี้แบงก์ค่อนข้างแข็งแกร่ง และพร้อมพยุงลูกหนี้ไปยาว ๆ แต่การพยุงไม่ใช่คำตอบ เพราะว่าประเทศขับเคลื่อนด้วยภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ใช่ภาคการเงิน” นายปิติกล่าว

ความสามารถชำระหนี้ทรุด

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ 14.64 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล รวมกันอยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8% เท่านั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มาก เพียงแต่ยังมีความจำเป็นต้องดูแลต่อเนื่อง เพราะมองไปข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับรายได้ครัวเรือนยังไม่ได้กลับมาเต็มที่

ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือน ทำให้ตึงตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังเห็นความจำเป็นที่ต้องประคองลูกหนี้กลุ่มเปราะบางต่อไป จึงมีการขยายมาตรการบางส่วนออกไปถึงปี’66 อย่างสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล และการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% รวมถึงการสนับสนุนการรวมหนี้ เปลี่ยนหนี้ดอกเบี้ยสูงมาเป็นเทอมโลนที่ดอกเบี้ยถูกกว่า

“เนื่องจากยังมีลูกหนี้ที่ยังต้องได้รับการประคับประคอง ถ้าไปบีบมาก ลูกหนี้อาจจะไม่ไหว แล้วบางส่วนอาจจะหนีไปกู้นอกระบบ ส่วนอีกมุมหนึ่งก็เป็นการมองอนาคตที่ว่า การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนก็ยังไม่ได้เต็มที่ ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มจะไม่แน่นอน คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่ไม่แน่ใจว่าครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอ ระดับรายได้จะฟื้นหรือเปล่า ท่องเที่ยวจะมาทันหรือเปล่า แล้วรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าพลังงาน ค่าไฟ” นายนริศกล่าว

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 14.78 ล้านล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2/65 ยังเติบโตในกรอบจำกัดอยู่ที่ 3.5-3.7% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ที่เติบโต 3.6% เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ครัวเรือนยังคงเปราะบางจากปัญหาค่าครองชีพ และรายได้ยังไม่กลับมาปกติ จึงมีความระมัดระวังการก่อหนี้ โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในไตรมาส 2/65 คาดว่าจะต่ำกว่าไตรมาส 1 ซึ่งอยู่ที่ 89.2% ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของ nominal GDP จากเงินเฟ้อที่เร่งตัว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะไม่ได้ขยับ แต่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 จะขยับมาอยู่ที่ 14.78 ล้านล้านบาท จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท พบว่าในส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงเป็นตัวที่ต้องระมัดระวังในเรื่องของคุณภาพหนี้

“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจจะต่ำลง แต่ภาระหนี้ครัวเรือนยังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องที่ยังต้องติดตาม ภาคครัวเรือนยังเผชิญโจทย์หลายอย่างพร้อมกัน ทั้งรายได้ยังไม่ฟื้น เงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนยังคงเปราะบาง”

เฝ้าระวังหนี้เสี่ยง 2 ล้านล้าน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายต่อเนื่องของสถาบันการเงิน ซึ่งออกจากวิกฤตโควิด-19 มาเจออีกวิกฤต ซึ่งเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบลูกหนี้ และกิจกรรมการทำธุรกิจของธนาคาร

ยอมรับว่าช่วงนี้ต้องประคองลูกหนี้ให้ดี ๆ เพื่อให้สามารถผ่านพายุลูกใหม่นี้ไปให้ได้ ซึ่ง ธปท.ก็เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด (soft landing) อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจะกระเทือนถึงผู้ประกอบการ ลูกหนี้ และระบบของธนาคารพอสมควร

ทั้งนี้ ภายใต้เงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยอ่อนไหวกับผู้มีรายได้น้อย ในมุมของสถาบันการเงินยังคงต้องประคองลูกหนี้ต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ธนาคารประคองมาแล้วรอบหนึ่งก็ต้องประคองให้ยาวและนานขึ้น

นายผยงกล่าวว่า ปัจจุบันลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลือของ ธปท. ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ยังมีอยู่ 2.8 ล้านล้านบาท จำนวน 3.87 ล้านบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำะหนี้ แต่ได้รับความช่วยเหลือทำให้ไม่ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งกลุ่มนี้จำเป็นต้องประคองและแก้หนี้เป็น step ยอมรับว่าเป็นกลุ่มเปราะ บางรายอาจกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องยืดหนี้ออกไปอีก

“ในแง่เครื่องมือช่วยเหลือเรามีครบ แต่การใช้ต้องใช้ต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมและธนาคารได้มีการคุยกันว่า หลัง ธปท.ผ่อนคันเร่ง และปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีผลกับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอย่างแน่นอน เราก็ต้องประคองปรับโครงสร้างหนี้ให้การชำระหนี้เหมาะสมกับรายได้ และเฝ้าติดตามใกล้ชิด ซึ่งในมุมการปรับขึ้นดอกเบี้ย มองว่าเพื่อให้กลไกการทำงานเป็นปกติ เพราะถ้าฝืนกลไกอาจทำให้เกิดการบอบช้ำ

จุดนี้จะต้องดูว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะประคองไม่ให้เกิดความบอบช้ำ เหมือนน้ำท่วมหากฝืนมากน้ำจะมุดใต้ดิน น้ำก็ท่วมอยู่ดี แต่เชื่อว่าระบบสถาบันการเงินมีความพร้อมรองรับพายุ ทั้งในแง่ buffer เงินกองทุน สภาพคล่อง แต่ก็เป็นประเด็นที่มีความท้าทายเช่นกัน”

ชี้ลูกหนี้รายได้โตไม่ทันรายจ่าย

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลช่วงที่เหลือยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ยังคงต้องติดตาม ยอมรับว่าปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้โตไม่ทัน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ระดับล่างถึงกลาง ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถการชำระหนี้ อย่างไรก็ดี เคทีซียังไม่มีนโยบายปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ โดยยังคงเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ 1.2 หมื่นบาทต่อเดือน เพราะหากเพิ่มฐานรายได้จะเป็นการปิดกั้นกลุ่มรายได้ต่ำออกสู่นอกระบบ

“จากภาวะเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งทำให้มีความต้องการใช้วงเงินในการหมุนเวียนในชีวิตประจำวันมากขึ้น การกดเงินสดที่โตขึ้น 7-8% แต่อีกส่วนก็อาจกระทบความสามารถการชำระหนี้ ความต้องการสินเชื่อที่เข้ามาก็ต้องจับตาดูกำลังความสามารถการจ่ายคืนด้วย” นางสาวพิชามนกล่าว

LINE BK เข้มปล่อยกู้กลุ่มเสี่ยง

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการ “LINE BK” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใต้สถานการณ์ความแข็งแรงของเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน รวมทั้งค่าครองชีพทุกอย่างปรับตัวเพิ่มขึ้น นโยบายการปล่อยสินเชื่อของ LINE BK ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ ยังคงมีความระมัดระวังต่อเนื่อง และจะมีความรัดกุมมากขึ้น ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในเรื่องความสามารถการชำระหนี้

เพราะสัญญาณความเสี่ยงไม่ได้ปรับลดลงจากปีก่อน ส่วนกลุ่มที่ปล่อยสินเชื่อไปแล้วก็ช่วยเหลือในการยืดเวลาชำระหนี้ ปรับค่างวดผ่อน หรือปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือลูกหนี้ประคองในภาวะเศรษฐกิจยังเปราะบาง รายได้หดตัวแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น

ยอมรับว่าสถาบันการเงิน รวมถึง LINE BK ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยลง สะท้อนจากยอดการอนุมัติสินเชื่อปรับลดลงทั้งระบบ ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังคงปรับเพิ่มขึ้น และสูงกว่าคาดการณ์ เนื่องจากความเสี่ยงไม่ได้ปรับลดลง

“เอฟเฟ็กต์ของเงินเฟ้อกระทบต่อกลุ่มรากหญ้าเต็ม ๆ ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่มีความยากลำบากในเรื่องของการเงิน ในทางธุรกิจบริษัทก็ระวัง คุมเข้ม และรัดกุม แม้ว่าเรายังไม่ได้มีการปรับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ ยังอยู่ที่ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเราก็ไม่ได้ลงไปจับเยอะ และโดยปกติลูกค้าที่เข้ามาจะมีรายได้เฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ตอนนี้ยอมรับว่าลูกค้ายังมีความต้องการเยอะ แต่เราก็บริหารความเสี่ยงธุรกิจให้รัดกุมด้วยเช่นกัน”

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ธปท. ตัวเลขหนี้ไตรมาสที่ 1/65 อยู่ที่ 14.64 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี ประกอบด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัย 5.06 ล้านล้านบาท, สินเชื่อรถยนต์-จักรยานยนต์ 1.79 ล้านล้านบาท, หนี้การศึกษา 2.42 แสนล้านบาท, สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น 4.05 ล้านล้านบาท, หนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคล 1.15 ล้านล้านบาท สินเชื่อประกอบอาชีพ 2.68 ล้านล้านบาท และอื่น ๆ 8 แสนล้านบาท