ปภ.เปิด 10 จังหวัดน้ำท่วมจากร่องมรสุม-พายุหมาอ๊อน พร้อมพื้นที่เฝ้าระวัง

ปภ. ประสานจังหวัดดูแลประชาชน-เร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วม
ภาพจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

ปภ.รายงาน 10 จังหวัดน้ำท่วมจากร่องมรสุม-พายุหมาอ๊อน เร่งประสานจังหวัดให้ความช่วยเหลือประชาชน

วันที่ 5 กันยายน 2565 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์ อิทธิพลจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ทำให้มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ ระยอง และตรัง รวม 4 อำเภอ 4 ตำบล 10 หมู่บ้าน

ส่วนอิทธิพลพายุหมาอ๊อน (MAON) คงยังทำให้มีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี ทั้งนี้ ได้ประสานจังหวัดดูแลผู้ประสบภัย และระดมกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ ในวันที่ 4-5 ก.ย. 65 มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 4 อำเภอ 4 ตำบล 10 หมู่บ้าน ได้แก่ เลย เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ ระยอง และตรัง ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล 2 หมูบ้าน ดังนี้

  1. เลย เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย มีน้ำท่วมผิวการจราจรบริเวณสะพานบ้านห้วยทองอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
  2. ตรัง เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา ประชาชนได้รับผลกระทบ 10 ครัวเรือน มีน้ำท่วมผิวการจราจรบนถนนทางเข้าหมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

สำหรับอิทธิพลพายุหมาอ๊อน (MAON) โดยสถานการณ์ล่าสุดในวันที่ 5 กันยายน 2565 ยังส่งผลให้มีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และปทุมธานี รวม 16 อำเภอ 131 ตำบล 605 หมู่บ้าน ภาพรวมระดับน้ำทรงตัว แต่บางจังหวัดระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้น

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง และจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

ขณะเดียวกัน ปภ. แจ้งเตือนพื้นที่เฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ณ วันที่ 5 กันยายน 2565 เวลา 08.00 น. ดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ

  • เชียงราย (อำเภอเมือง แม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง แม่สรวย)
  • ลำปาง (อำเภอวังเหนือ งาว)
  • พะเยา (อำเภอเชียงคำ ปง จุน ดอกคำใต้)
  • แพร่ (อำเภอสอง ลอง ร้องกวาง วังชิ้น)
  • น่าน (อำเภอท่าวังผา บ่อเกลือ ปัว สองแคว เวียงสา แม่จริม)
  • อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา น้ำปาด)
  • พิษณุโลก (อำเภอวังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ)
  • เพชรบูรณ์ (อำเภอเมือง เขาค้อ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • จ.เลย (อำเภอเมือง ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว)
  • จ.บึงกาฬ (อำเภอเมือง บุ่งคล้า)
  • จ.นครพนม (อำเภอศรีสงคราม)
  • จ.ชัยภูมิ (อำเภอเมือง หนองบัวระเหว แก้งคร้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์)
  • จ.นครราชสีมา (อำเภอด่านขุนทด โนนสูง ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย)

ภาคกลาง

  • กรุงเทพมหานคร
  • จ.ปทุมธานี (อำเภอธัญบุรี)
  • จ.นนทบุรี (อำเภอเมือง ปากเกร็ด)
  • จ.สมุทรปราการ (อำเภอเมือง บางพลี)
  • จ.นครนายก (อำเภอเมือง บ้านนา ปากพลี องครักษ์)
  • จ.ปราจีนบุรี (อำเภอกบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม)
  • จ.สระแก้ว (อำเภอเมือง เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร อรัญประเทศ)
  • จ.ระยอง (อำเภอเมือง แกลง ปลวกแดง)
  • จ.จันทบุรี (อำเภอเมือง นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว มะขาม ท่าใหม่ ขลุง)
  • จ.ตราด (ทุกอำเภอ)

ภาคใต้

  • จ.สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม คีรีรัฐนิคม)
  • จ.นครศรีธรรมราช (อำเภอทุ่งใหญ่ ทุ่งสง นบพิตำ พรหมคีรี ขนอม พิปูน)
  • จ.ระนอง (อำเภอกระบุรี เมือง กะเปอร์ สุขสำราญ)
  • จ.พังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง)
  • จ.ภูเก็ต (อำเภอถลาง กะทู้)
  • จ.กระบี่ (อำเภอเมือง ปลายพระยา เขาพนม เกาะลันตา)
  • จ.ตรัง (อำเภอนาโยง สิเกา)

พื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

ภาคเหนือ

  • พิษณุโลก (อำเภอบางระกำ)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • อุบลราชธานี (อำเภอเมือง วารินชำราบ)

ภาคกลาง

  • นครนายก (อำเภอบ้านนา องครักษ์)
  • อ่างทอง (อำเภอป่าโมก วิเศษชัยชาญ)
  • พระนครศรีอยุธยา (อำเภอเสนา ผักไห่ บางบาล บางไทร พระนครศรีอยุธยา บางปะหัน บางปะอิน นครหลวง)
  • ปทุมธานี (อำเภอเมือง สามโคก)

พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคกลาง

  • ชลบุรี
  • ระยอง
  • จันทบุรี
  • ตราด

ภาคใต้

  • ระนอง
  • พังงา
  • ภูเก็ต

ปภ. ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ ระวังอันตรายจากสัตว์และแมลงมีพิษ อันตรายจากกระแสไฟฟ้า ระวังการขับขี่พาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทาง สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง นักท่องเที่ยวควรงดเล่นน้ำทะเล นอกจากนี้ ให้เฝ้าระวังสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บริเวณชายทะเล เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากคลื่นที่ซัดเข้าฝั่ง

ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” ที่ Line ID @1784DDPM หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง และติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่ แอปพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT”