ประกันภัยผวาพายุ “หมาอ๊อน” หวั่นน้ำท่วมนาข้าวหนัก-ทุบธุรกิจเจ๊งอีก

ประกันภัยผวา

ธุรกิจประกันผวาพายุ “หมาอ๊อน” หวั่นทำน้ำท่วมนาข้าวรุนแรงจน “เจ๊ง” ซ้ำรอยอดีตต้องจ่ายเคลมอ่วม-ปีถัดไปต้องขยับค่าเบี้ยแพงขึ้น “วิริยะฯ” คาดปีนี้ขาดทุนแน่นอน ด้านข้อมูล “GISTDA” เผยล่าสุดพื้นที่ปลูกข้าวอีสานเสียหายแล้วกว่า 2 แสนไร่

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ผู้เอาประกันภัยข้าวนาปี เริ่มยื่นเรื่องเคลมสินไหมเข้ามาแล้ว แต่การจ่ายเคลมต้องรอตรวจสอบความเสียหาย ซึ่งจะต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจภัย

หลังสถานการณ์พายุ “หมาอ๊อน” จบลงก่อน โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยอยู่ระหว่างขอข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อให้ช่วยแจ้งความเสียหายในเบื้องต้นเข้ามาก่อน

ขณะที่บรรดาบริษัทประกันภัยต่อรายใหญ่ของโลก 11 ราย ที่เข้ามารับประกันภัยข้าวนาปีนั้น เริ่มสอบถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยกันเข้ามาแล้ว

และแสดงความเป็นห่วงต่อการตั้งสำรองกระแสเงินสด เพื่อรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะหากประเมินความเสียหายจบ ต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับเกษตรกร ภายใน 15 วัน นับจากวันที่เอกสารครบถ้วน

“ปีนี้เคลมสินไหมประกันข้าวนาปีดูท่าน่าจะหนัก จากที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เคลมสินไหมไม่เยอะ อย่างไรก็ดี ขออย่าให้ความเสียหายเกิน 2 ล้านไร่ เพราะภาคธุรกิจประกันจะเจ๊งทันที

เนื่องจากยอดจ่ายเคลมจะท่วมเบี้ย ซึ่งอยู่บนสมมุติฐานว่าหากต้องจ่ายความเสียหายไร่ละ 1,190 บาท 2 ล้านไร่ จะเป็นเงินกว่า 2,300 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่รับมาแค่ 2,000 ล้านบาท”

โดยในปี 2562 ธุรกิจเคยต้องจ่ายเคลมนาข้าวที่เสียหายกว่า 4 ล้านไร่ กว่า 5,000 ล้านบาท จากเบี้ยรับแค่กว่า 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้ในปีถัดมา รีอินชัวเรอร์ขอขึ้นค่าเบี้ย 10% ซึ่งตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเรื่องเกษตรกรรมในหลายประเทศ

โดยซีกโลกฝั่งยุโรปเผชิญภัยแล้งหนัก ในขณะที่ซีกโลกฝั่งเอเชียกลับเผชิญวิกฤตน้ำท่วม อย่างประเทศจีนต้องเผชิญทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ในขณะที่ปากีสถานเจอวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนัก

โดยหากประเมินจากภาพดาวเทียม Radarsat-2 (เรดาร์แซท 2) ตามข้อมูลสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคอีสานได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขังแล้วกว่า 217,612 ไร่ (ณ 28 ส.ค. 65)

โดยภาคอีสานมีสัดส่วนพื้นที่เพาะปลูกข้าวขนาดใหญ่ที่สุด สัดส่วนกว่า 45% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งประเทศ ตามมาด้วยภาคกลาง 30% ภาคเหนือ 20% และภาคใต้ 4-5%

“ตอนนี้พายุหมาอ๊อนเพิ่งเข้ามา ยังมีเข้ามาอีกหลายลูก เพราะเรายังไม่ผ่านฤดูมรสุม คาดการณ์ว่ากว่าจะจบน่าจะช่วงปลายเดือน ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค. แต่ถ้าย้อนไปดูในช่วงปี 2554 ที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ น้ำเริ่มท่วมหนักตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.เป็นต้นมา

ดังนั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของประเทศ ว่ามีการเตรียมตัวทางด้านกรมชลประทานดีหรือไม่ ถ้ามีการผันน้ำไปเรื่อย ๆ ก็น่าจะช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วมหนักได้”

นายวิญญู อังศุนิตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้การรับประกันภัยข้าวนาปี น่าจะเป็นอีกปีที่ขาดทุน ซึ่งจะทำให้ปีหน้ารีอินชัวเรอร์จำเป็นต้องขึ้นค่าเบี้ย และทำให้ภาคธุรกิจประกันต้องปรับราคาเบี้ยเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปี (ข้อมูลล่าสุด ณ 31 พ.ค. 65) ของสมาคมประกันวินาศภัยไทย พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2564 รวม 11 ปี ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวนาปีไปรวมทั้งสิ้น 203.9 ล้านไร่

มีเบี้ยประกันเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 16,492 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว 12,911 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน 78%