กทม.ขุดคลองยักษ์ 25 กม. ชง “ชัชชาติ” แก้ปมน้ำท่วมระยะยาว

น้ำท่วม

จับตา “ชัชชาติโมเดล” แก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกรุง โฟกัสเส้นเลือดฝอยคลองย่อย “คลองหกวา” ระยะทาง 25 กม. เชื่อมคลองประเวศบุรีรมย์ ขยายความกว้างเป็นคลอง 60 เมตร เวนคืนสองฝั่งรัศมี 120 เมตร พร้อมขุดคลองใหม่กว้าง 36 เมตร ช่วง “คลองบึงทรายกองดิน-ลำผักชี”อีก 9 กม. เวนคืนสองฝั่งรัศมี 54 เมตร สำหรับเป็นพื้นที่พักน้ำขนาดจุ 4.5 ล้าน ลบ.ม. ก่อนระบายสู่เจ้าพระยา ด้านผังเมืองใหม่ลดพื้นที่ฟลัดเวย์จาก 150 ตร.กม. เหลือ 50 ตร.กม. ใน 4 เขตหลัก “คลองสามวา หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเมืองกรุงเทพฯ ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าปี 2565 อาจซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ในขั้นตอนการวางแผนและนโยบายของ กทม. โดยพบว่ามีการพิจารณาในเรื่องการขุดคลองสายใหม่และการขยายคลองเดิม มีความกว้าง 36-60 เมตร เพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำในเขตกรุงเทพฯ ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

ท่วมกระจุก กทม.เหนือ-ตอ.

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่มาจาก 3 น้ำคือ “น้ำเหนือ-น้ำทะเลหนุน-น้ำฝน” ล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลมารวมกันที่บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 1,800 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่จุดเช็กพอยต์ หรือจุดเตือนภัยอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ดังนั้น จึงไม่มีข้อกังวลเรื่องปัญหาน้ำเหนือ

แต่ปัญหาหลักมาจากปริมาณน้ำธรรมชาติหรือน้ำฝน โดยพบว่าปริมาณน้ำฝนตกหนักในปี 2564 จำนวนวันที่ตกเกิน 100 มิลลิเมตร/วัน มีเพียง 4 วัน เทียบกับหน้าฝนปีนี้มีปริมาณน้ำฝนเกิน 120 มิลลิเมตร/วัน รวมกันถึง 10 วัน ซึ่งเป็นเหตุผลหลักของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในปี 2565 โดยมีจุดเสี่ยงอยู่ในโซนกรุงเทพเหนือกับกรุงเทพตะวันออก

“ฝนตกปีนี้ไม่ได้ท่วมกระจาย มีเฉพาะจุดที่เกินกำลังสามารถรับน้ำในคลอง ซึ่งต้องแก้ปัญหาระยะสั้น หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีจำนวน 6 คลองด้วยกัน แบ่งเป็น 4 คลองหลัก กับ 2 คลองย่อย ที่ผ่านมา กทม.เตรียมการล่วงหน้า เน้นดูแลคลองที่เป็นเส้นเลือดหลัก การทำงาน 3 เดือนกว่าที่ผ่านมา ขุดลอกไปแล้ว 32 คลอง เปิดทางน้ำไหล 1,665 กิโลเมตร ล้างท่อระบายน้ำ 3,358 กิโลเมตร ปรับปรุงปั๊มน้ำ บ่อสูบน้ำ และสถานีสูบน้ำ”

สำหรับ 4 คลองหลัก ได้แก่ โซนกรุงเทพฯเหนือมีคลองเปรมประชากรคู่ขนานกับคลองลาดพร้าว รับน้ำจากเหนือลงใต้ผันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กับกรุงเทพฯตะวันออก มีคลองแสนแสบรับน้ำจากเขตหนองจอกและมีนบุรี มีประตูระบายน้ำที่คลองบางชันตัดไปคลองแสนแสบ ซึ่งชั้นในมีอุโมงค์ยักษ์เร่งระบายน้ำได้ กับคลองประเวศบุรีรมย์ที่เป็นคลองหลักระบายน้ำฝั่งตะวันออก มีข้อจำกัดพื้นที่ติดกับ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งบริหารจัดการพร่องน้ำในภาพใหญ่โดยกรมชลประทาน และมีการประสานการทำงานใกล้ชิดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา

อีก 2 คลองย่อยคือ “คลองเกษตร” ซึ่งปัญหาน้ำท่วมอยู่ในโซนถนนรามอินทราฝั่งเลขคี่ มีการเพิ่มเครื่องสูบน้ำและสร้างทำนบปิดกั้นน้ำ เพื่อระบายน้ำท่วมจากรามอินทรา กับคลองบางนาที่รับน้ำจากฝั่้งซอยลาซาล มีการสร้างทำนบและทยอยเร่งสูบน้ำออกเพื่อระบายน้ำในคลองบางนาไปถึงสถานีสูบน้ำบางนานอก

ผังเมืองฟลัดเวย์

ชัชชาติเน้นประสิทธิภาพคลอง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ในปีนี้สาเหตุหลักเป็นปัญหาด้านกายภาพ ซึ่งใช้วิธีการบริหารจัดการเฉพาะหน้าในระยะสั้น ส่วนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว ความคาดหวังมีอุโมงค์มาช่วยระบายน้ำจากคลองประเวศฯ บึงหนองบอน คลองเคล็ด และต้องคิดหาทางลัดน้ำลง ต้องวางแผนหลายปี ที่สำคัญต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับกรมชลประทาน

“ผมลงพื้่นที่ดูแลเขตลาดกระบังให้เข้มข้น ระดมความช่วยเหลือลงไปทั้งอาหาร ยา ผู้ป่วยติดเตียง ผมโดนจูงมือเดินเข้าไปดู 40 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านเอกชนที่ไม่ใช่ทางสาธารณะ ซึ่งเราปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนไซต์ก่อสร้างต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มาตรการต้องดูละเอียด เร่งรัดผู้รับเหมาทั้งเรื่องขุดลอกท่อ ก่อสร้างยังไงไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน เร่งคืนผิวจราจร อย่าใช้เป็นพื้นที่เก็บของ และความปลอดภัยในพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง กทม.มีอำนาจอะไรจะใช้ทุกเม็ด ทุกดาบ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน”

นายชัชชาติกล่าวถึงแผนนโยบายเชิงรุกของ กทม.ด้วยว่า ปัญหาน้ำท่วมต้องแก้ไขควบคู่กัน ทั้งการบริหารจัดการเชิงสังคมและเชิงเทคนิค จากแนวโน้มฝนตกหนักมากขึ้น ตกถี่ขึ้น เป็นสิ่งเตือนที่ดีว่าโลกมันเปลี่ยนแล้ว ปริมาณฝนตกไม่ได้มีแค่ 60-70 มม./วินาที แต่ตกหนัก 130-170 มม./วินาที ทำให้แผนระยะสั้นแก้ไขไม่ได้

วิธีการต้องวางแผนรับมือระยะยาว ทำยังไงให้คลองมีประสิทธิภาพ มีอุโมงค์ยักษ์บางตัวทำไปป์แจ็กกิ้ง เพราะถ้าฝนตกหนักปัญหาทางเดินของน้ำผ่านคลองกับท่อที่มีอยู่ไม่เพียงพอแล้ว ต้องดีไซน์ทั้งระบบ โดยอุโมงค์ยักษ์อย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้ เพราะการนำน้ำจากคลองหลักคลองย่อยมาถึงอุโมงค์ต้องมีทางลำเลียงน้ำ งบประมาณเดิมที่ลงทุนอุโมงค์ยักษ์เยอะ ๆ ต้องแบ่งบางส่วนมาดูแลคลองซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย

“ต่อไป กทม.ต้องคิดระบบภาพรวมที่ต้องลงทุน แนวคิดเดิมลงอุโมงค์ยักษ์อาจต้องคิดใหม่ เน้นประตูระบายน้ำ ปั๊มน้ำ คลอง เขื่อน อีกเรื่องคือชุมชนริมน้ำที่เราต้องดูแลเขาด้วย” นายชัชชาติกล่าว

ผังเมืองใหม่ฟลัดเวย์หด

แหล่งข่าวจากสำนักการวางผังและพัฒนาเมืองเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนปรับปรุงใหม่นั้น มีปัจจัยสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาท่วมซ้ำซากทุกปี โดยหลักการผังเมืองมีการกำหนดโซน “ฟลัดเวย์” หรือพื้นที่ทางน้ำหลาก

ก่อนหน้านี้ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับดั้งเดิมเมื่อปี 2535 กำหนดพื้นที่ฟลัดเวย์รวม 1.5 แสนไร่ คิดเป็นพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร ที่มาที่ไปพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด “กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ” ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำ จึงกำหนดผังเมืองสีเขียวลาย หรือเขียวทแยงขาว ซึ่งคำว่าฟลัดเวย์คือทางน้ำหลาก ผังเมืองกันไว้เป็นพื้นที่ลำเลียงน้ำ หรือระบายน้ำจากปทุมฯ ผ่านผังเมืองเขียวทแยงขาวไปออกอ่าวไทยที่สมุทรปราการ

ต่อมามีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งขวางทางน้ำหลากเต็ม ๆ ประกอบกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินมีการเปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยด้านบนคือปทุมธานีไม่ได้คงผังเมืองสีเขียวเต็มผืนอีกต่อไป แต่มีการปรับเป็นสีเหลืองให้สร้างที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น ด้านล่างที่มีสนามบินสุวรรณภูมิทำให้สภาพการเป็นฟลัดเวย์เปลี่ยนสภาพไปโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงใหม่จึงมีการปรับลดพื้นที่ฟลัดเวย์ลง 2 ใน 3 ของพื้นที่เดิม หรือลดเหลือ 50,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตร

รายละเอียดผังเมืองฟลัดเวย์ฉบับเดิมมี 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ฟลัดเวย์ พื้นที่กทม.โซนตะวันออก มี 4 เขตคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง พื้นที่รวม 92,262 ไร่ เหลือ 34,204 ไร่ 2.พื้่นที่รับน้ำ บริเวณเขตทวีวัฒนา เขตบางแค เขตภาษีเจริญ จำนวน 44,250 ไร่ เหลือ 0 ไร่ และ 3.พื้นที่รับน้ำและอนุรักษ์ชายฝั่ง เขตบางขุนเทียน 13,691 ไร่ เหลือเท่าเดิม

ทั้งนี้ พื้นที่ฟลัดเวย์จริง ๆ มีเพียง กทม.โซนตะวันออก 4 เขตคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง ที่ลดผังเมืองฟลัดเวย์เหลือ 34,000 ไร่ ในขณะที่อีก 2 โซนที่เป็น “พื้นที่รับน้ำ” ในเขตทวีวัฒนา เขตบางแค เขตภาษีเจริญ และเขตบางขุนเทียน ไม่ใช่โซนฟลัดเวย์แต่อย่างใด

ผุดคลอง 60 เมตรกักน้ำ กทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ตามแนวฟลัดเวย์เดิม เพื่อลดแรงกดดันในการพัฒนาที่ดินบริเวณโดยรอบ เพราะสภาพทำเลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยข้อกำหนดแนวฟลัดเวย์เดิม กำหนดเป็นเขตสีเขียวลายขาว ประเภท ก.1 (สร้างที่อยู่อาศัยบ้านเดี่ยวขนาด 100 ตารางวา, พาณิชยกรรมไม่เกิน 100 ตารางเมตร และสร้างตลาดไม่ได้)

เปรียบเทียบกับข้อกำหนดในร่างผังเมืองที่กำลังปรับปรุงทบทวนในขณะนี้ มีการกำหนดข้อบังคับการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยปรับเป็นเขตสีเขียว ประเภท ก.3 สามารถพัฒนาได้มากกว่า ในส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม เพิ่มเป็นไม่เกิน 500 ตารางเมตร, และเพิ่มเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทตลาดขนาดตั้งแต่ 2,500 ตารางเมตรขึ้นไป เป็นต้น

จุดโฟกัสอยู่ที่สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ล่าสุดในปี 2565 ทำให้ผังเมืองมีบทบาทในการกำหนดและการวางผังสาธารณูปโภคเพื่อการระบายน้ำเสริมเข้ามา เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการระบายน้ำของพื้นที่แนวฟลัดเวย์เดิม แนวคิดหลักคือ มีการขยายความกว้างคลอง จากเดิมที่มีขนาดความกว้าง 10-20 เมตร หรือคลองย่อย จะมีการขยายให้กว้างขึ้นเป็นคลองขนาด 60 เมตร สำหรับเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ หรือหน่วงน้ำก่อนรอการระบายลงสู่เจ้าพระยาต่อไป

แหล่งข่าวในกรุงเทพมหานครเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนึ่งในโครงการเพื่อการระบายน้ำสำคัญที่จะปรากฏอยู่ในร่างผังเมืองฉบับใหม่ คือโครงการคลองเพื่อการระบายน้ำความกว้าง 60 เมตร บริเวณแนวฟลัดเวย์ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยรับน้ำในพื้นที่ตะวันออกของกรุงเทพมหานคร มีคาพาซิตี้กักเก็บน้ำได้ขนาดความจุ 4.5 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยคลอง 60 เมตรนี้จะเชื่อมระหว่างคลองหลัก 2 คลองบริเวณต้นทางและปลายทางที่ “คลองหกวา” กับ “คลองประเวศบุรีรมย์” มีระยะทางรวม 25 กิโลเมตร โดยแนวเส้นทางจะเป็นการขยายความกว้าง 60 เมตร ตามแนวคลองย่อยเดิม คือคลองลาดงูเห่า เส้นทางพาดผ่านคลองบึงทรายกองดิน คลองไผ่เหลือง และคลองสี่ มาบรรจบปลายทางที่คลองประเวศฯ เพื่อระบายน้ำไปอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนให้ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

เวนคืน 120 เมตร ตลอด 25 กม.

สำหรับรูปแบบเป็นคลองที่ขุดลึกไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และเนื่องจากเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน 2 ฝั่งคลองเพิ่มเติมในรัศมี 120 เมตร แบ่งเป็นการเวนคืนเพื่อขยายคลองกว้าง 60 เมตร กับเวนคืนเพื่อทำถนน 2 ฝั่งที่มีความกว้างฝั่งละ 30 เมตร

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากคลองกว้าง 60 เมตรแล้ว ในเบื้องต้นผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ยังได้มีการลากเส้นคลองขุดใหม่ซึ่งมีขนาดความกว้าง 36 เมตร ระยะทางยาว 9 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างคลอง 60 เมตร มีจุดต้นทางที่บริเวณคลองบึงทรายกองดิน เชื่อมกับจุดปลายทางที่คลองลำผักชี หรือคลองลำปลาทิว โดย 2 ฝั่งคลองมีการกำหนดให้มีถนนความกว้าง 2 ฝั่ง ๆ ละ 12 เมตร รวมเป็นรัศมีเวนคืน 54 เมตร

“ขณะนี้แนวคิดขยายคลองกว้าง 60 เมตร และลงทุนสร้างคลองขุดใหม่ความกว้าง 36 เมตร มีจังหวะที่ดี เพราะการทบทวนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครนั้น ทางผังเมืองใหญ่ภายใต้กฎหมายผังเมืองปี 2562 กำหนดให้จัดทำเพิ่มเติม 2 ผัง คือผังน้ำกับผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วมเมืองกรุงที่มีปัญหาฝนตกหนักจนทำให้เกินประสิทธิภาพการระบายน้ำจากคลองย่อยที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพหลักน่าจะเป็นสำนักการระบายน้ำ กทม. ที่ต้องรับช่วงต่อในการดำเนินการต่อไป”

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การขุดคลองเชื่อมต่อกับแก้มลิงเป็นแนวทางที่จะกักน้ำได้ เมื่อเทียบกับธนาคารน้ำใต้ดิน หรือวอเตอร์แบงก์ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง และยังไม่ใช่แผนงานในเร็ว ๆ นี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง กทม.รับฟังข้อเสนอของทุกฝ่าย เพื่อนำไปประเมินความคุ้มค่าในการลงทุน และวางแผนในระยะยาว


“กทม.ทำเต็มที่ทุกอย่าง อาจจะต้องปรับแผนระยะกลาง และระยะยาว เช่น คลองประเวศฯที่อนาคตต้องหาทางลัดไปคลองร้อยคิว ทั้งนี้ขอบคุณทุกความเห็น รับฟังทุกอัน อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ยังทำไม่ได้ต้องรอและชี้แจง ส่วนโครงการวอเตอร์แบงก์ระบายน้ำค่อนข้างยาก อย่ามองว่าการดูดน้ำลงวอเตอร์แบงก์แล้วน้ำจะแห้ง เพราะน้ำจะไหลมาจากที่อื่นมหาศาล อาจจะเป็นไปได้ถ้ารู้จุดน้ำท่วมที่แน่ชัด เชื่อว่าแก้มลิงธรรมชาติ การขุดลอกคูคลองจะมีประสิทธิภาพมากกว่า” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว