อัพเกรดบัตรทองพรีเมี่ยม เช็กสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลใหม่ 2565

สิทธิบัตรทอง 2565 มีอะไรใหม่

อัพเกรดสิทธิบัตรทอง 2565 เพิ่มสิทธิการรักษาโรงพยาบาลรัฐ เอกชน ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง

วันที่ 16 กันยายน 2565 หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง ที่เรารู้จักกันดี เป็นสิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการพื้นฐานด้านสุขภาพได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมเป็นเครือข่ายบัตรทอง ทั้งการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยและเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการส่งเสริม ดูแลสุขภาพ

อัพเกรดบัตรทองพรีเมี่ยม

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขยกระดับบัตรทอง หรือบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็น “บัตรทองพรีเมี่ยม” เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ และบริการ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยโรคร้ายแรง ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง และผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงการวินิจฉัยและการดูแลสุขภาพผ่านทางออนไลน์ (Telemedicine) ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของการเข้ารับการรักษาและดูแลสุขภาพในปัจจุบัน

ผู้ถือบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ในโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงพยาบาลปฐมภูมิทั่วประเทศ นอนโรงพยาบาลโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย ไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลภายใน 72 ชั่วโมง หรือพ้นภาวะวิกฤต

เปิดตัวเลขจำนวนสิทธิบัตรทอง 2565

ข้อมูลการจำแนกสิทธิหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กันยายน 2565) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จากจำนวนประชากรในประเทศ 67,286,989 ราย แบ่งเป็น

  • สิทธิ สปสช. (สิทธิบัตรทอง) จำนวน 47,232,289 ราย
  • สิทธิประกันสังคม จำนวน 12,721,515 ราย
  • สิทธิข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ 5,298,815 ราย
  • สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น 637,991 ราย
  • สิทธิผู้ประกันตนคนพิการฯ 13,009 ราย

ขณะที่จำนวนสถานพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ มีถึง 15,505 แห่ง ครอบคลุมเขตพื้นที่ สปสช. ทั้ง 13 เขต

สิทธิประโยชน์บัตรทอง อัพเกรด 2565

สิทธิบัตรทอง นอกจากจะใช้กับกรณีการเจ็บป่วยทั่วไป บดเจ็บ ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉิน และเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (UCEP) ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ครอบคุลมผู้มีสิทธิบัตรทองกว่า 47 ล้านคน คือ

  • สิทธิการรักษาโรคร้าย โดยผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะทาง และรักษามะเร็งได้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกที่
  • สิทธิฟอกไตฟรี สำหรับผู้ป่วยโรคไต
  • รับการรักษาโควิด-19 ฟรี ที่สถานพยาบาล หรือผ่านระบบปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ผ่านแอปพลิเคชั่นที่ร่วมโครงการ
  • บริการสำหรับแม่และเด็ก เช่น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การเพิ่มวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก คัดกรองภาวะ Down Syndrome ในหญิงตั้งครรภ์ (อายุไม่เกิน 35 ปี) ผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมสำหรับเด็กหูหนวก และการให้บริการแว่นตาเด็ก
  • บริการสำหรับวัยเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว เช่น การคุมกำเนิด ด้วยยาคุมกำเนิดหรือถุงยางอนามัย
  • สำหรับผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง ให้การดูแลและรักษาระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ การรักษาผู้ป่วยติดบ้านหรือผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนทุกสิทธิและทุกกลุ่มอายุ และแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับการขับถ่าย เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยที่มีปัญหากลั้นขับถ่าย จำนวน 3 ชิ้น/คน/วัน
  • เพิ่มการเข้าถึงบัญชียา โรคมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและต่อมน้ำเหลือง โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี การป้องกันและรักษาโรคเอดส์ด้วยยาต้านไวรัส HIV
  • เพิ่มสิทธิด้านวัคซีน 5 ชนิด ได้แก่ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ผู้ถือบัตรทองยังสามารถ รับการบริการสาธารณสุขระบบทางไกล (Telehealth/Telemedicine) และการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล
  • บริการรับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หืด จิตเวช และโรคเรื้อรังอื่น ๆ
  • บริการส่งยาเวชภัณฑ์ถึงบ้านทางไปรษณีย์
  • การใช้กัญชาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน

นอกจากนี้ สปสช.เปิดให้ผู้มีสิทธิบัตรทองที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา สามารถเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ที่หน่วยบริการปฐมภูมิใดก็ได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว และผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว รวมถึง สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำใหม่ และใช้สิทธิบัตรทองได้ทันที ไม่ต้องรอระยะเวลาเกิดสิทธิ 15 วัน (สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำได้ไม่เกิน 4 ครั้ง ต่อปีงบประมาณ)

งบประมาณบัตรทอง 3,385.98 บาทต่อคน

สปสช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 198,891.79 ล้านบาท เป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัวประจำปีงบประมาณ 2565 ไว้ที่ 158,294.42 ล้านบาท เพื่อดูแลประชากรผู้มีสิทธิบัตรทอง 47.66 ล้านคน (เฉลี่ย 3,329.22 บาท/ต่อหัว)

สำหรับรายละเอียดของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2565 มีดังนี้

  • งบฯเหมาจ่ายรายหัว จำนวน 158,294.42 ล้านบาท
    (หลังหักเงินเดือนภาครัฐ 53,388.62 ล้านบาท เป็นงบฯ สปสช. นำมาบริหาร 104,905.79 ล้านบาท)
  • งบฯผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,768.11 ล้านบาท
  • งบฯผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,731.34 ล้านบาท
  • งบฯควบคุมป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 1,154.78 ล้านบาท
  • งบฯเพิ่มเติม โรงพยาบาลพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท
  • งบฯผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน จำนวน 990.11 ล้านบาท
  • งบฯเพิ่มเติมบริการปฐมภูมิ จำนวน 319.28 ล้านบาท
  • งบฯบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,769.93 ล้านบาท
  • งบฯบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 825.08 ล้านบาท
  • งบฯช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 283.03 ล้านบาท
  • งบฯสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 19,265.42 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 มีวงเงิน 204,140.02 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯเหมาจ่ายรายหัว 161,602.66 ล้านบาท (เฉลี่ย 3,385.98 บาท/ต่อหัว) และที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เห็นชอบข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุนไปแล้ว เมื่อ 29 กรกฎาคม 2565 และเริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565

โรคโควิด-19 ตั้งงบฯต่ออีก 1,358.86 ล้านบาท

โดยมีรายละเอียดการบริหารจัดการงบประมาณเบื้องต้น ดังนี้

  • บริการโรคโควิด-19 จำนวน 1,358.86 ล้านบาท
  • นโยบายยกระดับบัตรทอง จำนวน 1,987.64 ล้านบาท
  • บริการยาราคาแพงเพื่อรักษามะเร็ง จำนวน 125.31 ล้านบาท
  • บริการยาที่มีส่วนผสมของกัญชาที่บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ จำนวน 44.41 ล้านบาท
  • ปรับการจ่ายตามรายการบริการ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง จำนวน 908 ล้านบาท
  • เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละพื้นที่ จำนวน 822.19 ล้านบาท
  • การผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจก ปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่ จำนวน 1,777.99 ล้านบาท
  • บริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) ปรับจ่ายตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) และปรับรอบการจ่ายเป็นทุก 15 วัน จำนวน 1,265,65 ล้านบาท
  • บริการไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,952.18 ล้านบาท
  • แผนและวงเงินการจัดหายา วัคซีน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2566 วงเงิน 12,162.83 ล้านบาท

นอกจากนี้ สปสช. ยังมีการเพิ่มการสนับสนุนบริการใหม่ให้กับประชาชน ในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ อาทิ

  • การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn)
  • บริการด้านทันตกรรม Vital Pulp Therapy
  • รากฟันเทียม
  • บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ
  • บริการผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ
  • บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-PEP)
  • เพิ่มยาในบัญชียาที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (บัญชี จ.2) จำนวน 14 รายการ
  • บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ
  • บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่น ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง