รับสังคมผู้สูงวัย! TDRI คาดอีก 15 ปี คนไทยอาจใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงถึง 2.2 ล้านล้านบาท

ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้าตามหลัก OECD จะมีค่าประมาณ 4.8 – 6.3 แสนล้านบาท เมื่อผนวกกับปัจจัยสังคมสูงวัย ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 – 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งหากในปี 2575 รัฐบาลยังไม่ออกมาตรการควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปถึง 2.2 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เผยผลศึกษาจากโครงการ การประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในอดีตถึงปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 10 ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2545 เป็นประมาณร้อยละ 13 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา

เมื่อนำหลักการของ OECD มาปรับใช้กับประเทศไทย เพื่อประมาณค่าใช้จ่ายในอีก 15 ปี โดยการเปรียบเทียบอัตราส่วนรายได้ต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ พบว่า หากประเทศหรือประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มในอัตราส่วนที่น้อยกว่า (ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 0.8 เท่า) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยในอีก 15 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4-1.8 ล้านล้านบาท

แต่หากรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เทียบเท่ากันกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้น 1 เท่า) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทย จะมีค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งหากในปี 2575 รัฐบาลยังไม่ออกมาตรการควบคุมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นไปถึง 2.2 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อใช้ข้อมูลรายได้จริงของประเทศหรือประชากรในประเทศไทย พบว่า รายได้ของประเทศที่เพิ่มขึ้น 1 เท่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าคือ 0.85 เท่า แต่หากพิจารณาแบบต่อหัว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะสูงถึง 3.54 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นรายจ่ายที่สูงกว่ารายได้มาก จากข้อค้นพบนี้จึงต้องพิจารณาต่อไปในระดับกองทุนว่ามีสินค้าหรือบริการใดบ้างที่จัดว่าเกินความจำเป็น หรือไม่มีผลต่อการรักษาพยาบาลโดยตรง

ผลการวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะการเจ็บป่วยและสังคมสูงวัย ต่อค่าใช้จ่ายของสวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐใน 3 กองทุน พบว่าโรคที่ประชากรไทยป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่อันดับหนึ่ง โรคหลอดเลือดหัวใจ 27% โรคมะเร็ง 12% โรคระบบทางเดินหายใจ 7% โรคเบาหวาน 6% โรคอื่นๆ 19% ซึ่งสังคมสูงวัยอย่างไทยอาจต้องเผชิญแรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอีก

เพื่อเตรียมรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาหาแนวทางที่ทำให้แนวคิด ข้อสมมติและวิธีการที่ได้มาซึ่งข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถานพยาบาลเป็นบรรทัดฐานเดียวกันและเปรียบเทียบกันได้ เพื่อความสะดวกและความชัดเจนต่อการประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคตของทั้งประเทศ


รัฐบาลควรมีนโยบายพร้อมมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ ที่งานวิจัยนี้พบว่าจะส่งผลเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้สูงขึ้นอีกมาก อีกทั้ง ควรกำหนดมาตรการป้องกันและแผนการควบคุมโรคโดยเฉพาะโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังเนื่องจากโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันซึ่งสามารถป้องกันและบรรเทาได้ ช่วยลดโอกาสที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว