ราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้หญิงท้องที่มีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ถึง 20 สัปดาห์ สามารถขอรับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์จากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ และต้องอยู่บนบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน มีผลบังคับใช้ในอีก 30 วัน
วันที่ 26 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่มาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ก่อนตัดสินใจยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ เพื่อให้การตัดสินใจของหญิงนั้นอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วย การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ 27 ตุลาคม 2565)
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“การให้คำปรึกษาทางเลือก” หมายความว่า การให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์ด้วยข้อมูล ที่หลากหลาย ถูกต้อง และรอบด้านตามประกาศนี้
“ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วย วิชาชีพเวชกรรม
“ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น” หมายความว่า
- 1.ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพสังคมสงเคราะห์รับอนุญาต นักจิตวิทยา หรือนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน
- 2.ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการปรึกษาทางเลือกในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือ
- 3.ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการปรึกษาทางเลือกในองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่กรมอนามัยให้การรับรอง
“หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก” หมายความว่า สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน หรือองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หรือองค์กรภาคประชาสังคมที่กรมอนามัยให้การรับรอง ที่มีบริการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์
“ข้อบังคับแพทยสภา” หมายความว่า ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุติ การตั้งครรภ์ทางการแพทย์ของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
ข้อ 3 หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ ให้แจ้งความประสงค์ดังกล่าวต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกเพื่อดำเนินการให้หญิงนั้นเข้าสู่กระบวนการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือก
การแจ้งความประสงค์ตามวรรคหนึ่ง หญิงอาจแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ให้กรมอนามัยประกาศรายชื่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือกตามวรรคหนึ่งให้ประชาชนทราบ
ข้อ 4 เมื่อได้รับการแจ้งความประสงค์ตามข้อ 3 ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ดำเนินการให้หญิงได้รับการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์ของหญิงจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามข้อบังคับ แพทยสภา
ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือกดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการปรึกษาทางเลือก
ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากหญิงยืนยัน ที่จะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา
ในกรณีที่ผลการตรวจปรากฏว่าหญิงมีอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษา ทางเลือกดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป แต่หากมีเหตุยุติการตั้งครรภ์อื่นตามมาตรา 305 (1) (2) หรือ (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ดำเนินการตามข้อบังคับแพทยสภา
ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น เมื่อได้ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่ หญิงตั้งครรภ์ตามที่กรมอนามัยกำหนดและขึ้นทะเบียนกับกรมอนามัยแล้ว ให้เป็นผู้ให้คำปรึกษา ทางเลือกตามประกาศนี้
ข้อ 6 การให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกคำนึงถึงหลักการ ดังต่อไปนี้
การรับฟังปัญหาของหญิงตั้งครรภ์ด้วยความใส่ใจและเป็นมิตร
การไม่ตีตราหรือตัดสินเกี่ยวกับการกระทำ การให้ถ้อยคำ การแสดงทัศนคติ หรือพฤติการณ์ต่าง ๆ ของหญิงตั้งครรภ์
การให้ข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้น ข้อมูลการยุติการตั้งครรภ์แบบ องค์รวม ได้แก่ ความเสี่ยง ความปลอดภัย ข้อห้ามทางการแพทย์ รวมถึงข้อมูลอื่น เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือก อย่างรอบคอบ ทั้งด้านการตั้งครรภ์ต่อและการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและวางแผนชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเงื่อนไขชีวิตของหญิง สามารถปฏิบัติได้จริงตามศักยภาพของตนเอง และรับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจได้
การให้อิสระ ไม่โน้มน้าว และไม่บีบบังคับให้หญิงตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง
การรักษาความลับในการให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์
ข้อ 7 การให้คำปรึกษาทางเลือกให้ดำเนินการโดยเร็วและคำนึงถึงอายุครรภ์ของหญิง ไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหากต้องมีการยุติการตั้งครรภ์
ข้อ 8 เมื่อหญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ได้รับคำปรึกษา ทางเลือกเสร็จสิ้นแล้ว ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกออกเอกสารตามแบบที่กรมอนามัยกำหนดแก่หญิง เพื่อแสดงว่าได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกตามประกาศนี้แล้ว โดยอาจทำในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ดังต่อไปนี้
หากหญิงนั้นยืนยันที่จะตั้งครรภ์ต่อ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกดำเนินการให้หญิงได้รับ การดูแลช่วยเหลือ หรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมแก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป
หากหญิงนั้นยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ให้ผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกดำเนินการให้หญิง ได้รับการยุติการตั้งครรภ์ตามข้อบังคับแพทยสภา หากหญิงนั้นประสงค์จะได้รับความช่วยเหลือ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำแนวทางการดูแลช่วยเหลือ หรือการจัดสวัสดิการสังคม ที่เหมาะสมแก่หญิงที่จะดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ดังกล่าวด้วย
ข้อ 9 ในระหว่างการดำเนินการตรวจหรือให้คำปรึกษาทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีข้อบ่งชี้หรือกรณีเป็นไปตามมาตรา 305 (1) (2) (3) และ (๔) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกอาจให้คำแนะนำแก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อดำเนินการยุติการตั้งครรภ์หรือดำเนินการอื่นใดให้เป็นไปตามที่กฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องกำหนด
ข้อ 10 ในระยะเริ่มแรก ให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษา ทางเลือกแก่หญิงตั้งครรภ์อยู่ก่อนแล้ว ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางเลือกตามประกาศนี้ได้ โดยยังไม่ต้องผ่านการฝึกอบรมตามข้อ 5 แต่ต้องไม่เกิน 365 วันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท.) ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์โดยการทำแท้งเถื่อน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ได้รับบาดเจ็บ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย จากรายงานสถานการณ์ และสถิติการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย พบว่ามีการยุติการตั้งครรภ์ประมาณปีละ 300,000 คน และผู้หญิงประมาณ 300 คน ต่อ 100,000 คน ได้รับอันตรายจากการยุติการตั้งครรภ์ ในปี พ.ศ. 2552 ประมาณการณ์ว่า มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ จำนวน 123.3 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความสูญเสียทางจิตใจ