สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิด ระดับกระทรวง ให้ศูนย์ระดับกรม รับช่วงดูแล

กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ EOC โควิด-19

กระทรวงสาธารณสุข ปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19 ระดับกระทรวง ให้ศูนย์ปฏิบัติการฯ ระดับกรมดำเนินการ เนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้น ย้ำหลัง 1 ตุลาคม 2565 ปรับ UCEP Plus ใหม่ รักษาทุกที่เฉพาะผู้ป่วย “โควิด” อาการวิกฤตสีแดง

วันนี้ (28 กันยายน 2565) ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงข่าวสิทธิ UCEP Plus หลังโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง และการปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ระดับกระทรวง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าวว่า ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลต้องการอำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม จึงกำหนดสิทธิ UCEP COVID ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการและที่มีอาการทั้งระดับสีเขียว เหลือง แดง สามารถใช้สิทธินี้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกที่ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น วันที่ 16 มีนาคม 2565 จึงได้ปรับเป็น UCEP Plus กำหนดให้เฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ส่วนผู้ป่วยอาการสีเขียวต้องไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ

ล่าสุด มีการประกาศปรับลดโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ กำหนดเฉพาะผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤตสีแดง เช่น มีภาวะหัวใจหยุดเต้น มีภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ หรืออาการอื่น ๆ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยเร็ว สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่

“เดิมกลุ่มอาการสีเหลือง เช่น กลุ่ม 608 ที่ไม่มีอาการ จะใช้ UCEP Plus ได้ แต่หลังปรับเกณฑ์ใหม่จะไม่ครอบคลุมผู้ป่วยโควิด-19 อาการสีเหลือง โดยให้ไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพ ซึ่ง สพฉ.จะออกประกาศเกณฑ์ UCEP Plus ใหม่ ที่มีรายละเอียดชัดเจน ในวันที่ 30 กันยายนนี้ เพื่อให้ประชาชนและสถานพยาบาลรับทราบ

โดยมีศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โทร. 0-2872-1669 เป็นหน่วยประสานระหว่างประชาชนและสถานพยาบาล ให้ข้อวินิจฉัยหรือคำแนะนำเมื่อมีข้อคิดเห็นไม่ตรงกัน ทั้งนี้ สิทธิ UCEP Plus จะสามารถรับการรักษาได้จนกว่าจะหายป่วย แตกต่างกับ UCEP ปกติ ที่กำหนดให้การรักษาภาวะฉุกเฉินใน 72 ชั่วโมงแรก” ร.อ.นพ.อัจฉริยะกล่าว

สำหรับการใช้สิทธิ UCEP Plus ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2565-ปัจจุบัน มีประชาชนเข้าสู่ระบบบริการ 383,258 ราย เข้าเกณฑ์ UCEP Plus 81,304 ราย โดยมาจากสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 แสนราย ประกันสังคม 1.4 แสนราย ข้าราชการ 4 หมื่นราย และอื่น ๆ 3 พันราย

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า แม้การระบาดจะไม่รุนแรงเหมือนเมื่อก่อน แต่ทุกคนยังมีโอกาสติดเชื้อได้ การป้องกันจึงยังเป็นมาตรการสำคัญ โดยขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมาก

ด้าน นพ.วิทูรย์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ดีขึ้น

วันนี้จึงประกาศยุติบทบาทของศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง และให้เป็นภารกิจของศูนย์ EOC กรมควบคุมโรคตามปกติ ซึ่งจะยังมีการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิดต่อไป และหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงก็พร้อมยกระดับมาเป็นศูนย์ EOC กระทรวง

ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ EOC กระทรวง รวมระยะเวลา 2 ปี 8 เดือน มีการประชุม 482 ครั้ง ออกข้อสั่งการ 480 ฉบับ รวม 3,259 ข้อสั่งการ มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับทุกหน่วยบริการทั่วประเทศ เพื่อสื่อสาร/สั่งการ และติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ 67 ครั้ง

นพ.วิทูรย์กล่าวต่อว่า มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 จำนวนมาก เป็นการกำหนดภายใต้การทำงานของศูนย์ EOC กระทรวง เช่น Bubble and Seal, การจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม นโยบายแซนด์บอกซ์ Test & Go และ SHA+ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและเปิดประเทศ, มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการ เป็นต้น ซึ่งการที่ศูนย์ EOC มีมาตรการและข้อสั่งการที่ชัดเจนถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง