กทม. ตั้งเป้าปี’66 มีสถานที่ร่วมคัดแยกขยะต้นทางทั่วกรุง 3,600 แห่ง

ขยะพลาสติก

“จักกพันธุ์” รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานการประชุมนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของ กทม. ตั้งเป้าชุมชน/องค์กรร่วมแยกขยะปี’66 กว่า 3,600 แห่ง

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการขยะต้นทางของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2565

ในที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านการจัดการขยะต้นทาง ประกอบด้วย

จักกพันธุ์ ผิวงาม
จักกพันธุ์ ผิวงาม

1.การดำเนินกิจกรรมในเขตนำร่องจัดการขยะครบวงจร “ไม่เทรวม” โครงการพัฒนาระบบการจัดการขยะครบวงจร เป้าหมายปี 2565 นำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตหนองแขม เขตปทุมวัน และเขตพญาไท ระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2665 ถึงเดือนมีนาคม 2566

โดยขอความร่วมมือประชาชนแยกขยะออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป โดยสำนักงานเขตได้ส่งเสริมชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่คัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ ตั้งจุดรับมูลฝอยรีไซเคิลในสถานที่ราชการและเอกชน ประชาสัมพันธ์การเก็บมูลฝอยเศษอาหารแยกจากมูลฝอย และรายงานผลการดำเนินการใน Google form สำหรับปริมาณน้ำหนักขยะอินทรีย์เขตหนองแขมเก็บได้ 5,700 กิโลกรัม เขตปทุมวันเก็บได้ 10,080 กิโลกรัม เขตพญาไทเก็บได้ 11,234 กิโลกรัม (ข้อมูลน้ำหนักขยะอินทรีย์ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565)

2.การพัฒนาระบบทิ้งขยะเพื่อปรับสภาพแวดล้อมบนทางเท้าด้วย “กรงตาข่าย” เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณทางเท้า โดยสำนักสิ่งแวดล้อมประสานเขตวัฒนา เพื่อทดลองตั้งวางกรงตาข่าย จำนวน 20 ชุด บนทางเท้าถนนสุขุมวิท ตั้งแต่ปากซอยสุขุมวิท 11-79 จำนวน 10 จุด ๆ ละ 2 ชุด ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565

Advertisment

ผลการเก็บข้อมูลพบว่าการทิ้งขยะในกรงตาข่าย ทำให้ทัศนียภาพจุดทิ้งขยะเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น แต่ยังพบปัญหาหนูเข้าไปในกรงตาข่าย และกัดเชือกตาข่ายเป็นรูขนาดใหญ่ รวมถึงมีปริมาณถุงขยะที่นำมาวางมีมากกว่าจำนวนกรงตาข่าย จึงพบถุงขยะวางนอกกรงตาข่าย และจำนวนถุงขยะที่จุดทิ้งเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้ปรับลดจำนวนจุด และนำกรงตาข่ายจากจุดท้าย มาเสริมในจุดที่จำนวนถุงขยะล้นมานอกกรงตาข่าย ขณะนี้กำลังปรับรูปแบบกรงตาข่ายเป็นกรงเหล็ก เพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น

Advertisment

3.จุด Drop Off ตามนโยบายส่งขยะกลับคืนสู่ระบบ สำนักสิ่งแวดล้อมร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TE) กลุ่ม PPP Plastics โครงการวน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) Youเทิร์น by PTTGC และ Z-Safe ดำเนินการโครงการ “มือวิเศษ กรุงเทพ”

โดยเริ่มต้นภารกิจแรก “แยกเพื่อให้..พี่ไม้กวาด” เพื่อช่วยเหลือพนักงานกวาดถนนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ต่อยอดความสำเร็จของโครงการ “แยกขวดช่วยหมอ ฝาก กทม. ก็ได้นะ” ในปี 2565 แนวคิดหลักของโครงการ คือการส่งเสริมการจัดการขยะทั้งที่บ้านและพื้นที่สาธารณะของทุกคน ด้วยการทิ้งขยะให้ลงถัง เพื่อลดภาระของพนักงานกวาดถนน นำขยะพลาสติกขวดเพตใส เบอร์ 1 (PET) กลับเข้าสู่การรีไซเคิล แปรรูปเป็นชุดปฏิบัติงาน ที่มีแถบสีสะท้องแสง มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล จำนวน 1,000 ชุด

นำขยะพลาสติกขุ่น เบอร์ 2 (HDPE) เข้าสู่การรีไซเคิล แปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง หรือจัดทำพื้นที่คืนพลาสติก นำไปติดตั้งในแลนด์มาร์กการจัดการขยะครบวงจร ทั้ง 52 จุดของกรุงเทพมหานคร

นำพลาสติกยืด เช่น ถุงพลาสติก บับเบิลกันกระแทก เข้าสู่ระบบการรีไซเคิลเป็นถุงขยะ พลาสติกที่คัดแยกสะอาดแต่ยังขายไม่ได้ (ขยะพลาสติกกำพร้า) และกล่องเครื่องดื่ม เพื่อรวบรวมกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ขณะนี้เตรียมส่งตะแกรงรับขยะพลาสติกกำพร้า และชุดรับกล่องเครื่องดื่มไปติดตั้งเพิ่มใน 51 จุด (ติดตั้งครบ 4 ประเภทแล้ว 1 จุด ที่ กทม. 2 ดินแดง) และเตรียมขยายจุดรับขวดในตลาดของกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง และสวนสาธารณะ 2 แห่ง และติดตั้งชุดรับพลาสติก 5 ประเภท เพิ่มอีก 2 จุดที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ถนนวิภาวดีรังสิต

4.ผลการสำรวจชุมชน/องค์กรแยกขยะต้นทาง จากผลการดำเนินการปี 2565 สำนักงานเขต 50 เขตได้ส่งรายชื่อชุมชน/องค์กร/งานกิจกรรม ที่เข้ามามีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดจำนวน 998 แห่ง โดยสำนักสิ่งแวดล้อมได้สำรวจข้อมูลชุมชน/องค์กร ที่เข้ามามีส่วนร่วมลดคัดแยกขยะเพิ่มเติม 471 แห่ง รวมทั้งสิ้น 1,469 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2565)

ในปี 2566 ได้กำหนดเป้าหมายให้สำนักงานเขตเข้าไปส่งเสริมแหล่งกำเนิดขยะ 6 แหล่ง เข้ามามีส่วนลดและคัดแยกขยะ ประเภทละ 1 แห่ง ต่อเดือน ต่อเขต ซึ่งจะทำให้มีชุมชน/องค์กร/งานกิจกรรม เข้ามามีส่วนร่วมลดและคัดแยกขยะรวม 3,600 แห่ง โดยสำนักสิ่งแวดล้อมจะประสานสำนักงานเขตในการดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวต่อไป