
ศาลอาญาคดีทุจริตภาค 8 สั่งจำคุก อดีต ผอ.โรงเรียนอนุบาล จ.สุราษฎร์ธานี 192 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานทุจริตเงินค่าอาหารกลางวันเด็ก ชี้ใช้อำนาจหาผลประโยชน์ ทำให้เด็กไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ กระทบพัฒนาการระยะยาว พฤติการณ์ร้ายแรง
วันที่ 21 ตุลาคม 2565 มติชนรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขคดีดำ อท.29/2564 เลขคดีแดง อท.42/2565 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมเชาว์ สิทธิเชนทร์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าใหม่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เเละอื่น ๆ กรณีที่เคยปรากฏเป็นข่าวการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลด้วยการให้กินเส้นขนมจีนกับน้ำปลา
โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม), 162(1)(4) (เดิม) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 121/1
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) มาตรา 162(1)(4) (เดิม) กับความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และการกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 77 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 385 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 192 ปี 6 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
โดยพิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามฟ้องและพยานหลักฐานโจทก์ตามทางไต่สวนแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยในแต่ละกระทงความผิดแม้คิดคำนวณได้เป็นตัวเงินไม่มากนัก แต่จำเลยได้กระทำผิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ทั้งจำเลยเป็นผู้บริหารโรงเรียน แต่กลับอาศัยอำนาจหน้าที่เบียดบังเอาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ ทำให้เด็กนักเรียนในปกครองไม่ได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ และจำนวนที่เพียงพอต่อการพัฒนาการทางร่างกายและย่อมส่งผลเสียในระยะยาว พฤติการณ์แห่งคดีจึงร้ายแรงไม่สมควรรอการลงโทษ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 4 แสนบาท