
“ชัชชาติ” ผ่าทางตัน แก้หนี้โครงสร้างงานโยธารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ยื่นคำขาดขออุดหนุนรัฐบาล ถ้าไม่ให้พร้อมโอนคืนทั้งสายให้รัฐบาล
วันที่ 25 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะมีการนำเรื่องเสนอในสภากรุงเทพมหานครในวันพรุงนี้ (26 ต.ค. 65)
โดยนายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่จะเสนอในสภากรุงเทพมหานครนั้น จะมีอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องแรกกรณีค่าโดยสารของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยกรุงเทพมหานครเสนอให้จัดเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย
ซึ่งหากสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบจะมีการสั่งการต่อไปยังบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ให้มีการจัดเก็บค่าโดยสาร ซึ่งทาง KT จะแจ้งแก่เอกชนผู้ดำเนินการต่อไป คือใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือนนับจากสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ
เรื่องที่ 2 กรณีตอบกลับหนังสือขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของกระทรวงมหาดไทยนั้น เมื่อสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นแล้ว จะมีการตอบกลับหนังสือต่อไป
โดยความเห็นของผู้บริหารกรุงเทพมหานครนั้นมี 2 ความเห็นคือ
1.เห็นว่าไม่ควรมีการต่อสัมปทาน โดยคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562 แต่ควรต่อสัมปทานโดยใช้วิธีการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
2.ขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างงานโยธา ของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ก็มีการขออุดหนุนค่าใช้จ่ายโครงสร้างโยธาเช่นกัน
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในการขออุดหนุนค่าโครงสร้างงานโยธานั้น เป็นกรณีปกติของการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันค่าโครงสร้างงานโยธา รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 กรุงเทพมหานครรับโอนหนี้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยประมาณ 5.8-5.9 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย
ซึ่งหากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในการขออุดหนุน กรุงเทพมหานครมีแนวทางคือการเจรจาเพื่อที่จะโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย คือ 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนสัมปทานช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ให้กับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ของบประมาณชดเชย กำหนดเพดานค่าโดยสาร ฯลฯ