เปิดคำวิวาทะ สภา กทม. คว่ำญัตติ ชัชชาติ ชงพิจารณา 2 ปมสายสีเขียว

สายสีเขียว

สภา กทม. คว่ำญัตติสายสีเขียว ส.ก. พญาไท ชี้ กทม. ไม่มีอำนาจพิจารณาค่าโดยสาร โยน ป.ป.ช. ตรวจสอบ ด้าน ส.ก.ราษฏร์บูรณะชี้รัฐบาลผลักภาระภาษีชาว กทม. ดูแลชุมชนปริมณฑล

วันที่ 26 ตุลาคม 2565 การประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ซึ่งมีการเสนอญัตติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 ญัตติ คือ ญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยก่อนการประชุม นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง ได้แถลงข่าวกรณีการเสนอญัตติของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อสภากรุงเทพมหานคร ว่า คณะกรรมการการจราจรและขนส่งได้รับหนังสือจากประธานสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง ขอความเห็นการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อพิจารณาว่า สภากรุงเทพมหานครมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

โดยพิจารณาผลการประชุมสภา กทม.ชุดก่อน กรณีที่ผู้ว่าฯ กทม. ของบประมาณสะสมจ่ายขาด 3,000 ล้านบาท เพื่อบริหารงานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งไม่ผ่านความเห็นชอบ

นายไสวกล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติว่า การให้ความเห็นเรื่องการบริหารงาน และการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภา กทม.

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความห่วงใยเกี่ยวกับดอกเบี้ยค่าจ้างเดินรถที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงตกลงกันว่าสภากรุงเทพมหานครจะส่งวาระการพิจารณาสายสีเขียวคืนให้ประธานสภา กทม.ผ่านไปยังผู้ว่าฯ กทม.

“ส.ก. กับผู้ว่าฯ กทม. มารับหน้าที่พร้อม ๆ กัน ผมเชื่อมั่นว่าผู้ว่าฯ กทม.มีประสบการณ์จากที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนั้นเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวคงมีธงแล้วว่า จะดำเนินการอย่างไร” ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย กล่าว

งัดมติสภาชุดก่อน ยันเป็นอำนาจฝ่ายบริหารพิจารณา

นายไสวกล่าวต่อว่า ยืนยันว่าสภา กทม.ไม่สามารถพิจารณาอนุมัติราคาค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ได้ ซึ่งเป็นไปตามมติสภา กทม.ชุดก่อน ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการพิจารณากำหนดอัตราค่าโดยสาร

ทั้งนี้ สภา กทม. ยินดี หากอนาคตฝ่ายบริหารจะเสนอของบประมาณจากสภา กทม.ไปชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนต่าง หลังเก็บค่าโดยสาร 15 บาท แต่ขอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเรื่อง หนังสือมอบหมายงานระหว่าง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้ถูกต้องก่อน

สภาผู้บริโภคย้ำค่าโดยสารไม่เกิน 44 บาทตลอดสาย

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) พร้อมด้วยเครือข่ายผู้บริโภค กทม. และตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มายื่นหนังสือข้อเสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร กรณีการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวและแนวทางการแก้ปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อประธานสภากรุงเทพมหานคร

โดยมีตัวแทนจากสภากรุงเทพมหานครเป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ สภาองค์กรผู้บริโภคมีข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาสัมปทานและการกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดังนี้

1.ขอให้สมาชิกสมาคมกรุงเทพมหานครกำหนดค่าบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคในราคา 15 บาทตลอดสาย เมื่อรวมเส้นทางหลักจะเก็บค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 44 บาทตามสิทธิสัญญาสัมปทานของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

2.ขอให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครสนับสนุนแนวทางการเจรจาพักชำระหนี้กับกระทรวงการคลัง หรือคืนภาระหนี้ค่าก่อสร้างและกรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 69,105 ล้านบาท ให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหากกรุงเทพมหานครรับภาระหนี้ดังกล่าวจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานหลักที่จะครบอายุสัญญาในปี 2572 และทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต

3.ขอให้สภากรุงเทพมหานครสนับสนุนแนวทางการออกซิเคียวริไทเซชั่น (Securitization) ซึ่งเป็นกระบวนการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ โดยการระดมทุนจากรายได้ในอนาคตมาใช้หนี้ค้างจ่าย เนื่องจากหากหมดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเส้นทางสัมปทานหลักที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 จะมีผลให้กรุงเทพมหานครสามารถบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจำนวน 59 สถานีได้ ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถนำรายได้ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ค้างจ่ายได้

4.ขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะทำงานโดยมีสภาองค์กรผู้บริโภคและตัวแทนของผู้บริโภคเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้และมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าโดยสาร การเชื่อมต่อระบบบริการและกำกับคุณภาพบริการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรมในกรุงเทพมหานคร

ประธานสภา กทม.แจงขั้นตอนยื่นญัตติด่วนของผู้ว่าฯ

นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายวิรัตน์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้รับหนังสือด่วนที่สุดจากผู้ว่าฯ กทม. วานนี้ (25 ต.ค.) เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมหนังสือด่วนที่สุดจากกระทรวงมหาดไทย (มท.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565

ทั้งนี้ ขอชี้แจงขั้นตอนการบรรจุญัตติเข้าสู่วาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งตนได้ปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมด แต่บางญัตติ เอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องขอเอกสารเพิ่มเติม ทำให้เสียเวลาต่อการบรรจุญัตติ

โดยเฉพาะญัตติที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย จึงต้องขอรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาญัตตินั้น ๆ หลายครั้งต้องประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับ กทม. ทำให้ต้องใช้เวลา จึงชี้แจงให้ฝ่ายบริหารรับทราบ

สำหรับการประชุมวันนี้ ผู้ว่าฯ กทม. จะเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดยนายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ พรรคไทยสร้างไทย ประธานคณะกรรมการวิสามัญจราจรและขนส่ง ได้เสนอให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน ดังนั้นที่ประชุมสภา กทม.จึงมีมติให้รวมทั้งสองญัตติเข้าด้วยกัน

ส.ก.ก้าวไกล วอล์กเอาต์ชี้ สภา กทม.ไม่มีอำนาจถกค่าโดยสาร

นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรเป็นญัตติ ควรเป็นการเสนอขอความเห็นเท่านั้น จึงขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไป และหากยังมีญัตติดังกล่าวอยู่ จะขอออกจากประชุม พร้อมกับเดินออกไปจากห้องประชุมทันที

ภายหลังออกจากห้องประชุมนายพีรพลได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า ญัตติเกี่ยวกับการพิจารณาค่าโดยสารนั้นสภากรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานครไม่สามารถพิจารณาได้เนื่องจาก ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562 นั้น ได้ให้อำนาจส่วนการพิจารณาค่าโดยสารเป็นของคณะกรรมการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) แล้ว

เรื่องดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร และตนจะไม่ขอมีส่วนร่วมในญัตตินี้

พร้อมกันนี้ นายพีรพลยังกล่าวต่ออีกว่า ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการนั้น การทำหนังสือมอบหมายงานที่ไม่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีแนวโน้มว่าจะมีลับลมคมใน ดังนั้น จึงขอให้ ป.ป.ช.ควรเข้ามาตรวจสอบในเรื่องนี้

ถอนญัตติ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่อสะดุด

จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ขออภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภา กทม.

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอหารือประธานสภา กทม. และผู้ว่าฯ กทม. เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ทำให้เราไม่มีความสุข จึงขอให้ตั้งคณะกรรมกรรมวิสามัญศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง และขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อน

นายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษารายละเอียด จากนั้นจึงให้สมาชิกอภิปราย

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นเรื่องใหญ่ เราไม่ได้เป็นผู้เริ่ม ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องหาทางช่วยกัน ไม่ได้เสนอให้อนุมัติ แต่เสนอขอความเห็น เพื่อให้จดบันทึกไว้

ขณะเดียวกัน มหาดไทยขอความเห็นสภา กทม. กับผู้บริหาร มีความเห็นอย่างไร ในเรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าไม่พูดประชาชนจะพูดผ่านใคร ไม่ได้ขอให้อนุมัติ ไม่ได้ผิดอำนาจ ควรเริ่มพูดกัน เป็นจุดเริ่มต้นในการหารือกัน ยืนยันว่าวันนี้ไม่มีการลงมติ เป็นการขอความเห็นเท่านั้น

ขณะที่นายวิรัตน์ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ยืนยันว่าวันนี้ไม่มีการลงมติ เป็นการขอความเห็นเท่านั้น และสภากทม.ไม่ได้รับทราบในสิ่งที่ฝ่ายบริหารจะดำเนินการต่อไป การแสดงความเห็นจึงไม่ได้ผูกพันกับสภา กทม.

จากนั้นนายวิรัตน์ ได้เสนอถอนญัตติดังกล่าวออกไป โดย ส.ก.ยกมือเห็นด้วยที่จะถอนญัตติดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภา กทม.

ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้สายสีเขียวเอาภาษี กทม.ช่วยคนนอกพื้นที่

นายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวภายหลังพักการประชุมว่า ทางสภากรุงเทพมหานครอยากจะขอระยะเวลาในการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพิ่มเติม เนื่องจากมีความซับซ้อน จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งสภากรุงเทพมหานครชุดที่แล้วที่มาจากการแต่งตั้งของคำสั่ง คสช. ยังไม่กล้าที่จะอนุมัติงบประมาณ

ดังนั้นจึงขอเวลาในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ อีกทั้งในการตัดสินอะไรที่จะต้องใช้งบประมาณนั้นหมายความว่ากรุงเทพมหานครจะต้องนำภาษีของประชาชนชาวกรุงเทพมหานครมาสนับสนุนในส่วนพื้นที่ปทุมธานีและสมุทรปราการ


นายวิรัชยังกล่าวต่ออีกว่า ตนมองว่าเรื่องนี้การโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการมาให้กรุงเทพมหานครนั้น รัฐบาลไม่เป็นธรรมที่จะให้ภาษีของพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครสนับสนุนในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ