ข้อเท็จจริง ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม “ศาลปกครอง-ข้อตกลงคุณธรรม” การันตีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

รถไฟฟ้าสายสีส้ม
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ

ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด สำหรับความคืบหน้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ในส่วนของสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ว่าจะมีบทสรุปและเริ่มต้นโครงการได้เมื่อใด ยิ่งล่าช้าประชาชนยิ่งเสียประโยชน์

จากการเปิดซองประมูลเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดย “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” ได้ประกาศผลการคัดเลือกออกมาชัดเจน ถูกต้องตามข้อกฎหมายและคุณสมบัติว่า “BEM-บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” เป็นผู้ชนะการประมูล

ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อนำไปสู่การเซ็นสัญญาเป็นทางการและเริ่มต้นเปิดไซต์ก่อสร้างต่อไป

ในขณะเดียวกัน “BTSC-บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งที่สอง (เดือนกันยายน 2565) มีความพยายามอธิบายถึงเรื่องตัวเลขของการประมูลดังกล่าว ว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์กว่า 6.8 หมื่นล้านบาท จนสร้างความสับสนให้กับสังคมไทยในขณะนี้

ประเด็นนี้ ทางหน่วยงานเจ้าของสัมปทาน “รฟม.” ได้ชี้แจงว่า ตัวเลขนี้ของ BTSC ไม่มีที่มาที่ไป รวมทั้งกลุ่มบีทีเอสไม่ได้นำตัวเลขใด ๆ มายื่นในการประมูลงานรอบสองแต่อย่างใด

จุดโฟกัสอยู่ที่เมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้าเป็นนโยบายการลงทุนของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็น “มหานครระบบราง” ยิ่งสร้างเสร็จเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้รุดหน้าเทียบชั้นมหานครของโลก

เพดานอุดหนุน 91,983 ล้าน

สำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 อนุมัติให้คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน กำหนดให้เอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธาส่วนสายสีส้มตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย สถานี อุโมงค์ ราง และจัดหาระบบรถไฟฟ้าเพื่อเดินรถทั้งสาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลก่อสร้างส่วนสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ไปแล้ว

โดยมีหลักเกณฑ์จะสนับสนุนจ่ายคืนค่าก่อสร้างงานโยธาส่วนตะวันตกไม่เกิน 91,983 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ต้องสนับสนุนนั้นก็เพื่อควบคุมราคาก่อสร้างที่เอกชนแบกรับไม่ให้สูงเกินไป สามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่เช่นนั้นหากต้นทุนเอกชนสูง ก็จะเกิดการ “ผลักภาระค่าโดยสารให้กับประชาชน” อีกทอด หรืออธิบายง่าย ๆ คือทำให้ตั๋วโดยสารแพงเกินจะรับได้นั่นเอง

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาแบ่งเป็น 3 เรื่องคือ “คุณสมบัติ เทคนิค การเงิน” ผู้ผ่านการพิจารณาครบถ้วนทั้งหมดจะเป็นผู้ชนะ

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือก ม.36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน และ รฟม. เห็นพ้องกันว่าควรปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพื่อเน้นความสำคัญเรื่องเทคนิคการก่อสร้างและการเดินรถ ให้เกิดความถูกต้องเหมาะสมที่สุด

เพราะสายสีส้มทั้งเส้นมีระยะทางยาว 35.9 กม. จำนวนทั้งสิ้น 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับบนดิน 7 สถานี จึงจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ผ่านสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพระบรมมหาราชวัง ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา และตลอดแนวถนนราชดำเนิน การก่อสร้างต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

ดังนั้น เรื่องเทคนิคและแผนงานว่าจะทำอะไร อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งได้ขยายเวลายื่นข้อเสนอประกวดราคาอีก 45 วัน เพื่อให้เอกชนมีเวลาเพียงพอในการเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น

โดย รฟม.ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดเพื่อประโยชน์ของรัฐ และปฏิบัติอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ให้อำนาจไว้

บีทีเอสฟ้องคดีศาลปกครอง

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มบีทีเอสได้ยื่นฟ้องศาลปกครองว่า การประมูลสายสีส้มตะวันตกเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ไม่ชอบ ทำให้บีทีเอสซีเสียหาย

ต่อมาเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายและล่าช้า “คณะกรรมการ ม.36” จึงยกเลิกประมูลครั้งแรก และเปิดประมูลใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมทั้งคืนซองข้อเสนอ ค่าธรรมเนียมให้เอกชนทุกรายเรียบร้อย

โดยการเปิดประมูลรอบสองมีการ “รีเซต” ขั้นตอนทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกต้องสอดคล้องกับข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัทบีทีเอสซีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลดังนี้ เริ่มจาก 1.การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งจำหน่ายในคดีดังกล่าว

2.ยื่นฟ้องในประเด็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ ทำให้บีทีเอสซีเสียหาย และเรียกร้องค่าเสียหาย 5 แสนบาท โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดหลังคู่ความยื่นอุทธรณ์

3.ประเด็นที่บีทีเอสซียื่นฟ้องศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้าม รฟม.ดำเนินการคัดเลือกเอกชนรอบสอง ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 354/2564 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้อง

ส่วนคำพิพากษาเพิกถอนการยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวน เมื่อกรกฎาคม 2563 นั้นอยู่ระหว่างการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดย รฟม.ชี้แจงว่าบริษัทเอกชน 2 รายที่ได้ยื่นข้อเสนอ รับซองข้อเสนอกลับคืนไปแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการได้อีก

4.ต่อมาบีซีเอสซี ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางอีกครั้งว่า การประมูลครั้งใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ระงับการประมูลไว้ก่อน

ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ไม่คุ้มครอง” เนื่องจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจของคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน การกำหนดคุณสมบัติ และหลักเกณฑ์ด้านการก่อสร้างงานโยธาในระดับสูง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 2562

ไฮไลต์อยู่ที่ ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า ประกาศเชิญชวนประกวดราคารอบสอง มีหลักเกณฑ์ที่เปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันในการคัดเลือกมากขึ้นกว่าประกาศเดิมเสียอีก จึงไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันบริษัทบีทีเอสซีไม่ให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอประกวดราคาแต่อย่างใด

ซึ่งคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวเป็นที่สุดแล้วตามข้อ 73 วรรคสอง ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543

5.บีทีเอสซียื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกรวม 7 คน ในความผิดต่อหน้าที่ราชการ ความผิดต่อ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และความผิดต่อ พ.ร.บ.ความรับผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 2502

สำหรับคดีนี้ ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองและศาลอาญาดังกล่าว สะท้อนชัดเจนถึงการปฏิบัติงานของ รฟม.ที่ยึดตามระเบียบหลักเกณฑ์ ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

BTSC สละสิทธิ์ไม่ประมูลแข่ง

ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครองที่ตัดสินว่าไม่มีบทบัญญัติใดของกฎหมายที่ห้ามมิให้ รฟม. หรือคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดำเนินการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่

ดังนั้น การเปิดประกวดราคาสายสีส้มตะวันตกรอบสอง จึงเป็นกรณีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง “สีส้มตะวันออก-สีส้มตะวันตก” ซึ่งเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สามารถดำเนินการได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน

ในเวลาเดียวกัน มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าบริษัทบีทีเอสซีมีการซื้อเอกสารประกวดราคารอบสอง แต่เมื่อถึงกำหนดวันยื่นเอกสารและข้อเสนอประกวดราคา มีเพียงเอกชน 2 รายที่ยื่นข้อเสนอแข่งขัน ได้แก่ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีอีเอ็ม” และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD Group

โดยบีทีเอสซีไม่ได้ยื่นซองประมูลแข่งขันแต่อย่างใด

ACT กับข้อตกลงคุณธรรม

ภายหลังจากการเปิดซองประมูลรอบสอง ซึ่ง “บีอีเอ็ม” เป็นผู้ชนะประมูล ด้วยข้อเสนอด้านราคาและเทคนิคที่ดีที่สุด ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ผ่านเวทีสาธารณะในหัวข้อ “กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูลรถไฟสายสีส้ม”

โดย ACT เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตรวจสอบผลประโยชน์ของรัฐ โดยนำเสนอข้อมูลวงเงินขอรับการสนับสนุนค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าของเอกชนผู้ชนะประมูล เปรียบเทียบกับ “ราคาในใจ” ของบีทีเอสซีมีแตกต่างกันมากถึง 6.8 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่เรียกว่า “ราคาในใจ” เพราะบีทีเอสซีซื้อซองเอกสาร แต่สละสิทธิ์ไม่ยื่นประมูลอย่างเป็นทางการ เท่ากับปฏิเสธสิทธิ์ในการแข่งขันตามกฎหมายไปแล้ว จึงมีคำถามว่า หากบีทีเอสซีสามารถแข่งขันยื่นผลประโยชน์ให้รัฐได้ตามที่กล่าวอ้างจริง เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลอย่างถูกต้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกให้มีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรม

นอกจากนี้ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์บทบาทองค์กร ACT ด้วยว่า การประมูลสายสีส้มตะวันตกรอบสอง ดำเนินการภายใต้ “ข้อตกลงคุณธรรม” โดย ACT ส่งตัวแทนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอนในฐานะผู้สังเกตการณ์

ดังนั้น บทบาทหลักของ ACT จึงมีหน้าที่รายงานทันทีในกรณีพบเห็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางทุจริต ต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อให้ชี้แจงแก้ไข ซึ่งหากยังไม่มีการแก้ไข ก็สามารถรายงานต่อกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ “สคร.” ให้เข้ามาตรวจสอบได้

ในขณะที่การเปิดประมูลรอบสองในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ทาง ACT ได้มีตัวแทนผู้สังเกตการณ์และเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมครบทุกครั้ง อีกทั้งมีการทำงานภายใต้กรอบข้อตกลงคุณธรรม แต่ก็ไม่ได้มีการแจ้งว่ามีประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นใด ๆ ทั้งสิ้น

เท่ากับ ACT ได้ประทับตราโปร่งใสให้กับผลการประมูลรอบสองเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น เมื่อ ACT ลุกขึ้นมาเปิดเวทีสาธารณะเรียกร้องให้ตรวจสอบคอร์รัปชั่นผลประมูลเสียเอง จึงกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรโดยอัตโนมัติ