ปิดทองหลังพระ ส่งไม้ต่อผู้ว่าฯน่าน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน Nan Brand

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ขออยู่เบื้องหลัง ดันมือผู้ว่าฯน่าน ส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผน จัดงบฯพัฒนาพื้นที่ และผลิตภัณฑ์ชุมชน ต่อยอดงานระดับฐานรากที่ทำมากว่า 13 ปี

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ที่ จ.น่าน หน่วยงานสังกัด 4 กระทรวงหลัก กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับสถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดน่าน ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือกับสถาบันปิดทองหลังพระฯ ประกาศเจตนารมณ์ในการร่วมกันสืบสาน ต่อยอด การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ จังหวัดน่าน

นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ เปิดเผยว่า หลังจากที่ปิดทองหลังพระฯ เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำ ดิน ร่วมทั้งส่งเสริมอาชีพและกระบวนการรวมกลุ่มให้ชุมชนในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ แห่งแรก เป็นเวลา 13 ปีแล้ว ชาวบ้านสามารถสร้างรายได้ และช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือขุมชน บางรายเข้าร่วมกลุ่มพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สร้างแบรนด์ ขณะนี้มีความเข้มแข็งพร้อมสำหรับการก้าวต่อสู่ความยั่งยืนแล้ว

นายวีรเทพ พิรโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระฯ

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า ยังมีพื้นที่อื่น ๆ อีกมากที่ยังกันดาร ป่าเขา จำเป็นต้องใช้วิธีการทำงานที่ลงรายละเอียดแบบปิดทองหลังพระ ซึ่งครอบคลุมทุกด้าน จึงให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมเรียนรู้ ต่อยอด ขยายผล จับมือกันทำงานพัฒนาแบบองค์รวมต่อไป

ทั้งนี้ ส่วนราชการที่เข้าร่วมลงนามรับไม้ต่องานพัฒนา ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดน่าน, สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน, องค์การบริหารส่วนตำบลศรีภูมิ, องค์การบริหารส่วนตำบลตาลชุม, องค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน, เทศบาลตำบลยอด, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน, องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือในการสืบสาน ต่อยอด พื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จังหวัดน่าน ณ ลานวัฒนธรรมข่วงน้อย อำเภอเมืองน่าน

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

สำหรับสาระสำคัญของบันทึกความร่วมมือดังกล่าว คือ ทุกภาคีการพัฒนาทั้งหมดตกลงที่จะเชื่อมโยงแผนชุมชนที่มีการจัดทำขึ้นก่อนหน้านี้เข้าสู่ระบบราชการปกติ โดยงบประมาณจากทั้งราชการส่วนท้องที่และท้องถิ่น เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป โดยสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะยังคงให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และให้คำปรึกษาต่อไป

ตัวอย่างของความร่วมมือที่เกิดขึ้น เช่น จังหวัดน่าน อำเภอท่าวังผา สองแคว และเฉลิมพระเกียรติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะให้การสนับสนุนหมู่บ้านต้นแบบในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบรรจุแผนพัฒนาหมู่บ้านในส่วนที่เกินศักยภาพของหมู่บ้าน ไว้ในแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด และแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกปี เพื่อให้มีงบประมาณและทรัพยากรสำหรับดำเนินการตามแผน

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดน่าน จะสนับสนุนด้านการพัฒนาอาชีพการเกษตร ภายใต้นโยบาย Smart Farmer ส่งเสริมพืชทางเลือกที่มีตลาดรองรับ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด การจัดการกลุ่มเกษตรกร ทั้งรูปแบบแปลงใหญ่และเกษตรอัจฉริยะ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต

สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ จังหวัดน่าน จะเสริมสร้างองค์ความรู้ในการจัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ ให้แก่วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และเกษตรกร สนับสนุนการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี ในการบริหารจัดการเงินของครัวเรือนและของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันทางการเงิน สามารถบริหารการเงินของกลุ่มและครัวเรือนได้อย่างโปร่งใส

สำนักงานพาณิชย์จังหวัดน่าน สนับสนุนการกระจายผลิตภัณฑ์ชุมชนไปสู่ตลาดในช่องทางหลากหลาย  ผลักดันผลิตภัณฑ์ของหมู่บ้านต้นแบบที่มีอัตลักษณ์ เพื่อขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พัฒนาคุณภาพการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เข้าสู่การใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์จังหวัดน่าน (Nan Brand) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จะนำงานวิจัย วิชาการ และนวัตกรรม มาพัฒนาการผลิต การแปรรูป เพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน เป็นต้น

ขณะที่สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้หมู่บ้านต้นแบบเป็นแหล่งเรียนรู้ในลักษณะห้องปฏิบัติการทางสังคม เปิดรับการเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และฝึกอบรม ให้แก่หน่วยงานภายนอก รวมทั้งเป็นพื้นที่ทดลององค์ความรู้ใหม่ ๆ

ความร่วมมือของภาคีการพัฒนาทั้งหมด มีเป้าหมายเพื่อให้หมู่บ้านต้นแบบปิดทองหลังพระฯ ทั้ง 20 หมู่บ้าน ใน 3 อำเภอ มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า สถาบันปิดทองหลังพระฯ เข้ามาดำเนินการพัฒนาในพื้นที่ต้นแบบจังหวัดน่านมาตั้งแต่ปี 2552 มีรูปธรรมความสำเร็จของการพัฒนาตามศาสตร์พระราชา คือ สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์จากน้ำได้ 120,214 ไร่ เพิ่มพื้นที่ป่า 209,970 ไร่ ชาวน่านได้รับประโยชน์ 35,735 ครัวเรือน รายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย ครัวเรือนละ 41,359 บาทต่อปี เป็น 92,645 บาทต่อปี