ชัชชาติ โอนเค้ก รฟม.แสนล้าน แก้ปมตั๋วร่วมรถไฟฟ้า 3 สาย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” นำทีม กทม. ถกประเด็นร้อน “ศักดิ์สยาม” หลังประชุมเอเปคเคลียร์ปมแสนล้านรถไฟฟ้า 3 สาย “สีเขียว-สีเทา-สีเงิน” เชื่อมระบบราง-ตั๋วร่วมทั่วกรุงเทพฯ แก้กับดักสัมปทานเดินรถ พร้อมโอนให้ “รฟม.” ดำเนินการ “คมนาคม” ขานรับ ย้ำต้องถูกกฎหมาย พร้อมสรุปเข้า ครม. เตรียมชงเดินรถเมล์สายสั้น จัดระเบียบเส้นเลือดฝอย รับกรุงเทพฯแห่งอนาคต

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีพิธีใหญ่ต้อนรับผู้นำและรัฐมนตรีเอเปคอย่างสมเกียรติเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” ซึ่งคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในระหว่างนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นทางการอีกครั้งเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 3 สาย คือสายสีเขียว สายสีเทา และสายสีเงิน

ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่ กทม.อยู่ระหว่างสรุปผลโครงการ และในระดับนโยบาย โดยผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ มีความประสงค์จะถ่ายโอนโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมดคืนให้กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผูู้ดำเนินการแทน

โอนถ่ายบิ๊กโปรเจ็กต์

นายชัชชาติกล่าวย้ำว่า รถไฟฟ้าที่อยู่ในการศึกษาของ กทม.ขณะนี้คือ สายสีเทาและสายสีเงิน ซึ่งเป็นโครงการตามแผนแม่บทยังไม่ได้ก่อสร้าง และรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการนานแล้วอย่างสายสีเขียว ซึ่งรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายนี้สมควรที่จะให้ รฟม. โดยกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเป็นโครงข่ายเดียวกัน และจะส่งผลดีต่อการจัดการระบบตั๋วร่วม รวมถึงค่าโดยสารทั้งระบบ

“เราต้องยอมรับ กทม.ไม่มีงบประมาณและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านรถไฟฟ้าโดยตรง ถ้าจัดระดับงานโครงการให้เข้าที่และเหมาะสมได้ ในภาพรวมจะสามารถแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ทั้งโครงการที่ไม่จำเป็นและมีความซ้ำซ้อน รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินกับบีทีเอสที่ กทม.ยังมีหนี้สินค้างจ่ายอยู่”

นัดหารือหลังประชุมเอเปค

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเบื้องต้นหลังการประชุมเอเปค ทาง กทม.จะมีการนัดหารือกันระหว่าง 2 ผู้นำองค์กร คือ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. โดยกำหนดหัวข้อการพูดคุย คือ

1.รถไฟฟ้า 2.การเดินรถเมล์ 3.การขอใช้พื้นที่ของกระทรวงคมนาคม 4.Open Data การเดินรถ และ 5.การตรวจจับรถควันดำ จุดโฟกัสจะอยู่ที่ 2 ประเด็นแรก คือการโอนถ่ายรถไฟฟ้าและการเดินรถเมล์ 2 โหมดการขนส่งเคียงคู่ประชาชนเมืองหลวง

สำหรับประเด็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอาจต้องเริ่มหารือเพื่อให้ไปต่อ โดย กทม.จะมีเงื่อนไขในการส่งมอบ ทั้งค่าโดยสาร ค่าตอบแทนการลงทุนในงานโยธา เป็นต้น

ที่สำคัญ การโอนให้กระทรวงคมนาคมจะทำให้กทม.ปลดภาระหนี้จากการรับโอนงานโยธาในส่วนต่อขยายส่วนเหนือ (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และส่วนใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) มูลค่ารวมกว่า 51,785,370,000 ล้านบาท

ในโอกาสเดียวกันจะมีการหารือการมอบรถไฟฟ้าสายสีเทา-เงิน ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ก่อนเสนอ คจร. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีต่อไป จากเดิมจะเสนอกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำเข้า ครม.

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเทานั้น ขณะนี้ผ่านการพิจารณา EIA แล้ว ขั้นตอนเหลือเพียงเสนอไปยังคณะกรรมการ PPP ก็จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ มีระยะทาง 16.3 กิโลเมตร 15 สถานี วงเงินการลงทุน 2.75 หมื่นล้านบาท และมีจุดเปลี่ยนระบบการเดินทาง (interchange) 5 จุด ใน 5 สายทางรถไฟฟ้าของ รฟม. รองผู้ว่าฯวิศณุยังเปิดเผยอีกว่า จากผลการศึกษาการลงทุนจะเป็นไปในรูปแบบ PPP net cost โดย กทม.จะต้องจ่ายค่างานโยธาอีกปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเงิน หรือ LRT สายบางนา-สุวรรณภูมิ แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 จากแยกบางนา-ธนาซิตี้ จำนวน 12 สถานี สำหรับวงเงินลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่ 36,937 ล้านบาท

ชงรถเมล์สายสั้นแก้รถขาดช่วง

นอกจากยังมีประเด็นเรื่องรถเมล์ ซึ่ง กทม.จะเสนอแนวทางการเดินรถเมล์โดยซอยให้เป็นสายสั้น ๆ จากเดิมเป็นรถเมล์สายยาว เพื่อไม่ให้รถขาดช่วง ซึ่งเป็นการจัดระเบียบเส้นเลือดฝอยระหว่างชานเมืองกับในเมือง

ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องสัมปทานการเดินรถ เจ้าของผู้ประกอบการ และระบบตั๋วรายวัน ส่วนนี้จะเป็นอำนาจของกรมการขนส่งทางบก ในการบริหารจัดการเส้นทางเดินรถ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันบริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด บริษัทลูกของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จากรายงาน Opportunity Day ของ EA รายงานว่า ปัจจุบันมีสายการเดินรถเมล์กว่า 122 สายการเดินรถ จากสายการเดินรถฉบับปฏิรูปของกรมการขนส่งทางบก 279 สายการเดินรถ โดยตั๋วรายวันในราคา 40 บาท จะสามารถเดินทางได้ทุกเส้นทาง ไม่จำกัดรอบของบริษัทในกลุ่ม EA

ในเบื้องต้น รถเมล์ที่ กทม.จะดำเนินการมี 2 ประเภท คือ 1.feeder รถเมล์จากนอกเมืองมายังระบบขนส่งมวลชนหลัก 2.shuttle bus วิ่งเป็นบล็อก ๆ โดยมีขอบเขตพื้นที่กว้างกว่าเดิม

บิ๊กคมนาคมขานรับ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเทา-เงิน ที่ กทม.มีแนวคิดว่า จะโอนให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการว่า ในเบื้องต้นจะต้องมีการหารือกับ รฟม. โดยจะต้องทำตามระเบียบมติคณะรัฐมนตรี และกฎหมายอย่างเคร่งครัด

การขนส่งทางรางหากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานเดียวดีที่สุด จะได้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งขณะนี้กำลังรอพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการประชุมเอเปคซึ่งหลังการประชุมเอเปคจะได้มีการนัดหมายหารือกับผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป

เมื่อถามถึงหากมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแทนกรุงเทพมหานคร นายศักดิ์สยามกล่าวว่า “เหมือนที่เคยพูดไปครั้งที่แล้ว คือกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน คือทำตามขั้นตอนของกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ให้ กทม.ไปดูว่าทำเรียบร้อยหรือยัง”

เปิดลายแทงรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ และพระโขนง-ท่าพระ) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนรองใน กทม. เป็น 1 ใน 4 เส้นทางนำร่องของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางราง ในเขต กทม. ปริมณฑล ระยะที่สอง (M-Map Phase 2) โดยกระทรวงคมนาคม และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้เร่งรัดแผนงานจากเดิมในปี 2572 มาอยู่ในช่วงแผนงานปี 2562 เพื่อเชื่อมทำเลชานเมืองฝั่งเหนือของกรุงเทพฯ ให้เข้าสู่ใจกลางเมืองได้รวดเร็ว

ทั้งแก้ปัญหาการจราจรบนถนนสุขุมวิท สาทร พระรามที่ 3 และรัชดาภิเษก ตลอดจนนำระบบขนส่งเข้าสู่ถนนที่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนตัดผ่าน คือ “ถนนประดิษฐ์มนูธรรม”

โครงการนี้จะเป็นรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว แนวเส้นทางจะมี 2 ช่วงแยกขาดจากกัน ช่วงแรกจุดเริ่มต้นคือจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ที่สถานีวัชรพล จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรม เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่สถานีลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีวัดพระราม 9 จ

ากนั้นข้ามเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน ช่วง Missing Link บางซื่อ-หัวหมาก เพื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) แล้วสิ้นสุดช่วงแรกที่สถานีทองหล่อ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียวสุขุมวิท

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา บรรดาดีเวลอปเปอร์รายใหญ่หลายรายที่ลงทุนขึ้นคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ต่างโปรโมตจุดที่ตั้ง เพราะอนาคตอันใกล้จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่คือสายสีเทา พาดผ่านย่านเพชรบุรีตัดใหม่-ทองหล่อ และสุขุมวิท จึงถือเป็นทำเลที่น่าจับตายิ่งขึ้น

สำหรับช่วงที่ 2 ของสายสีเทา มีจุดเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพระโขนง แล้วมุ่งลงใต้ตามแนวถนนพระรามที่ 4 เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีคลองเตย และสถานีลุมพินี แล้วเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาทร ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีช่องนนทรี


จากนั้นเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่มีแผนจะยกเลิกโครงการ เมื่อสายสีเทาเปิดใช้ โดยจะวิ่งไปถึงปลายทางที่ “สถานีราชพฤกษ์” อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับบีทีเอส สายสีลม อีกจุดหนึ่งที่ “สถานีตลาดพลู” แล้วมุ่งขึ้นทางเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษก ไปสิ้นสุดที่ “สถานีท่าพระ” ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงินอีก 1 จุด รวมระยะทาง 40 กิโลเมตร