ชัชชาติ ชี้ 3 ขั้นตอนแก้ปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว หลังถูกสภา กทม.ถอนญัตติ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. เผย 3 ขั้นตอนดำเนินงานกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อจากนี้ ภายหลังถูกสภา กทม. ถอนญัตติ ยันทำถูกต้อง เป็นเพียงการขอความเห็น ไม่ได้เป็นการขอมติจากสภากรุงเทพมหานคร

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งถูกถอนญัตติจากสภากรุงเทพมหานครเมื่อวานนี้ (26 ต.ค. 65) ว่ามี 3 ขั้นตอนหลักด้วยกันที่ต้องดำเนินการต่อหลังจากนี้ ได้แก่ 1.ตอบหนังสือความเห็นของกระทรวงมหาดไทย 2.ดูว่าการชำระค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า สามารถทำได้หรือไม่ 3.ปรึกษาอัยการเรื่องอำนาจของ กทม. ในส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ

โดยนายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่ยื่นต่อสภาไปเป็นเรื่องที่ถูกระเบียบทุกประการ และการเอาญัตติเข้าก็เป็นเพียงการขอความเห็น ไม่ได้เป็นการขอมติจากสภากรุงเทพมหานคร

แม้จะยังไม่สามารถเข้าไปเพื่อแสดงความเห็นในสภากรุงเทพมหานครได้ ก็ยังมีความคิดเห็นหลายประการที่น่าสนใจ ซึ่งแสดงให้เห็นเลยว่าแต่ละคนคิดเห็นอย่างไร และแต่ละคนมองปัญหานี้อย่างไร ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน

“การคุยกันผ่านโต๊ะอาหารนั้นประชาชนไม่สามารถเห็นได้ว่าผู้แทนแต่ละคน รวมถึงคนที่เลือกเข้ามานั้นมีมุมมองอย่างไร ดังนั้น การผ่านสภากรุงเทพมหานครคือส่วนที่อยากให้ทุกคนได้ทราบความเห็น เมื่อสภากรุงเทพมหานครยังไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ต้องการส่วนใดเพิ่มเติมสามารถคุยกันได้” นายชัชชาติกล่าว

ADVERTISMENT

ในประเด็นการกำหนดราคาค่าโดยสารนั้น นายชัชชาติกล่าวว่า เชื่อว่ายังเป็นอำนาจของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ของคณะกรรมการตามมาตรา 44 ตามแนวความเห็นของพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด

ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินงานหลังจากนี้ อันดับแรกคือการตอบหนังสือความเห็นของกระทรวงมหาดไทย โดยนายชัชชาติกล่าวว่า เมื่อสภาไม่มีความเห็นอะไรเพิ่มเติม ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะตรวจสอบอีกครั้ง และส่งหนังสือกลับไปให้กระทรวงมหาดไทย

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครจะเพิ่มการขอความเห็นจากกระทรวงมหาดไทยเรื่องการชำระค่าจ้างเดินรถให้กับกรุงเทพธนาคมในส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ว่ากรุงเทพมหานครสามารถชำระได้หรือไม่

เนื่องจากส่วนนี้มีสัญญาจ้างเดินรถครบถ้วน เพียงแต่ความเห็นคณะกรรมการตามมาตรา 44 มีความเห็นให้ชะลอการจ่าย เนื่องจากเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเจรจา

สำหรับส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการนั้น ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครกำลังปรึกษากับทางอัยการ สำหรับการช่วยให้ความเห็นว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป และกรุงเทพมหานครมีอำนาจอะไรบ้าง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ทราบมาว่าทางกรุงเทพธนาคมมีการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อตรวจสอบความสมเหตุสมผลของค่าจ้างของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เนื่องจากค่าจ้างค่อนข้างสูงประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องรอดูผลการตรวจสอบต่อไป นายชัชชาติกล่าว

สำหรับประเด็นการตั้งกรรมการวิสามัญของสภากรุงเทพมหานครนั้น นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้ายว่าเป็นอำนาจของสภากรุงเทพมหานครโดยแท้ ซึ่งต้องแล้วแต่การบริหารจัดการของสภา พร้อมกับย้ำว่าการใช้วิธีคุยกันนอกรอบก็จะมีข้อเสียที่ว่าประชาชนจะไม่สามารถทราบความเห็นต่าง ๆ จากผู้แทนของตนได้