ขบวนอำนาจสับราง ยื้อราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ชัชชาติ สายสีเขียว

ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เคลื่อนขบวนไปหยุดอยู่ตรงที่เส้นแบ่งของอำนาจ 3 ฝ่าย

ฝ่ายแรก คือ รัฐบาลกลางในนามของกระทรวงมหาดไทย

ฝ่ายที่สอง คือ รัฐบาลท้องถิ่นในนามของผู้ว่าฯ กทม.

ฝ่ายที่สาม คือ ฝ่ายนิติบัญญัติท้องถิ่น ในนามของสภากรุงเทพมหานคร

ฝ่ายที่ควรตกลงกันได้มากที่สุด คือ ผู้ว่าฯ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งกุมอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร และมีเครือข่าย สมาชิกสภา กทม. หรือ ส.ก.ไว้ 2 พรรค คือ เพื่อไทย 20 ที่นั่ง และก้าวไกล 13 ที่นั่ง รวมกันแล้วเกินกึ่งหนึ่ง 33 เสียง จากทั้งหมด 50 เสียง

แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายและข้อบังคับ รวมทั้งผลผูกพันในการตัดสินใจใช้อำนาจแก้ปัญหาที่มีมูลค่าเกือบแสนล้าน อาจทำให้ต้องตกเป็นจำเลยในคดีใดคดีหนึ่งในอนาคต

นี่จึงเป็นเหตุให้ นายชัชชาติ ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้อง ถอนญัตติการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ออกจากวาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

หลังจากนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ต้องเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้าวนไปเกือบจะต้องตั้งต้นทางใหม่ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1.ตอบหนังสือความเห็นของกระทรวงมหาดไทย 2.พิจารณาการชำระค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า สามารถทำได้หรือไม่ และ 3.ปรึกษากับอัยการ เรื่องอำนาจของ กทม. ในส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ

ปมปัญหาแห่งอำนาจของฝ่ายบริหาร กทม. ที่ไม่อาจผลักดันการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ ตามความเห็นของฝ่ายสมาชิกสภา กทม. พรรคก้าวไกล คือ การใช้อำนาจอาจขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 แต่ฝ่ายบริหาร คือนายชัชชาติ ระบุว่า “ไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 แต่อย่างใด”

ถ้อยความในการตอบความเห็นจาก กทม. ส่งถึงกระทรวงมหาดไทย คือ การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น เห็นควรต้องผ่านพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และขอสนับสนุนในค่าใช้จ่ายด้านงานโยธาจากรัฐบาลกลาง 5 หมื่นล้าน ในช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

พร้อมกันนี้ได้ตั้งประเด็นคำถามเพื่อหาแนวทางในการอนุมัติการจ่ายค่าจ้างเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ตามสัญญาจ้างเดินรถระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เนื่องจากกรุงเทพมหานคร หยุดการจ่ายค่าตอบแทนแก่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในส่วนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เพราะค่าจ้างในการเดินรถ เป็นส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 ใช้ในการเจรจา และต้องการให้กรุงเทพมหานครในฐานะลูกหนี้ ต้องการจะหยุดการเดินของทั้งดอกเบี้ยและค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายที่สะสม

ปมปัญหาทับซ้อนเรื่องอำนาจ ทั้ง 3 ฝ่าย และอีก 2 องค์กร คือ กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม ต้องรอคำตอบจากอัยการสูงสุด ตาม “บันทึกข้อตกลงการมอบหมาย ให้บริการเดินรถ และติดตั้งระบบเดินรถและซ่อมบำรุง ระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคม”

ผู้ว่าฯ กทม.ต้องการความชัดเจนใน 2 ประเด็น คือ ส่วนแรก จะต้องเปลี่ยนหนังสือบันทึกข้อตกลงการมอบหมายนี้เป็นสัญญาหรือไม่ และการเก็บค่าโดยสารในรถไฟฟ้าส่วนนี้ อำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นของกรุงเทพมหานคร หรือกรุงเทพธนาคมกันแน่

แม้กระทั่งการจ่ายค่าจ้างเดินรถของบริษัท กรุงเทพธนาคม ปีละราว 6 พันล้าน ก็ยังต้องการคำตอบจาก “บริษัทที่ปรึกษา” มาตีราคาว่าแพงเกินไปหรือไม่

ทั้งหมดเป็นภารกิจของฝ่ายบริหาร กับอีก 2 องค์กร ที่ผูกมัดร้อยกันจนยากที่จะสางให้จบภายใน 100 วัน ตามที่ได้หาเสียงไว้

เวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้า คู่ขนานกับการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่เคยอ้างถึงว่าเกินกึ่งหนึ่งอยู่ในมือของชัชชาติ ในเวลานี้เมื่อถึงช่วงการนับถอยหลังไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า ปัญหาการช่วงชิงคะแนนนิยมสำหรับสนามใหญ่ ในเมืองหลวงระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จึงเป็นอีกปมใหญ่ปมหนึ่งที่มัดปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แน่นยิ่งขึ้น

หลังจากญัตติดังกล่าวถูกถอนจากการประชุมคราวล่าสุด และเป็นช่วงเวลาการปิดสภากรุงเทพมหานครในปี 2565 สมัยที่ 4 พอดิบพอดี

กว่าการประชุมสภากรุงเทพมหานคร จะเปิดประชุมอีกครั้ง คือในการประชุมสภาสมัยที่ 1 ในเดือนมกราคม 2566

ระหว่างนี้แม้ว่าทั้งฝ่ายสภา กทม.ที่มีองค์ประกอบ ของ ส.ก. พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล จะถือว่าหมดภาระในการพิจารณาปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวไปแล้ว

และฝ่ายหัวเรือใหญ่ของพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร ยืนยันสำทับว่า คำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 ข้อที่ 5 ระบุไว้ชัดเจนว่า อำนาจของคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นได้ยุติไปแล้ว และเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย ที่จะแสวงหาแนวทางอื่น เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

“ในทางปฏิบัติ แค่รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือตรงให้ผู้ว่าฯ กทม. จากนั้นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจเต็มที่จะตอบหนังสือฉบับนั้นได้เอง โดยไม่ต้องผ่านสภากรุงเทพมหานครก็ได้”

ในขณะที่ฝ่ายบริหาร กทม. โดยโฆษกฯ กทม. ออกมายืนยันเช่นกันว่า อำนาจในการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.ยืนยันว่าญัตติดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อขอมติสภา กทม. เพื่อนำไปใช้ดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการขอรับความเห็นของ ส.ก. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

นั่นหมายความว่า ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เรื่องค่าโดยสาร การบริหารอนาคต และการสางหนี้ที่พัวพัน ต้องถูกโยนลูกกลับไปที่รัฐบาลกลางอีกครั้ง เพื่อหาคำตอบและผลผูกพันตามกฎหมาย ที่เปิดทางให้ทุกฝ่ายได้หลักประกันในการใช้อำนาจอย่างปราศจากข้อกังขา และการันตีว่าไม่มีคดีค้างคาในอนาคต

ประเด็นแรก คือรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในการให้ความเห็นชอบผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562

ประเด็นที่สอง เรื่องการรอพิจารณาเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการจัดการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2560 ที่เห็นชอบในหลักการให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้แก่กรุงเทพมหานคร สำหรับการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ประเด็นที่ 3 คือรอคำตอบที่รอจากกระทรวงมหาดไทย เรื่องหนี้สินและค่าใช้จ่ายในการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งการจ้างเดินรถส่วนนี้มีหนังสือสัญญาชัดเจน กรุงเทพมหานครจะต้องชำระ แต่ติดปัญหาที่มัดไว้ว่า หนี้และค่าใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของผลการเจรจาของคณะกรรมการที่ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 และต้องใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีชี้ขาด

กทม.จึงต้องรอลุ้นความหวังว่า จะได้ไฟเขียวจากกระทรวงมหาดไทย ให้เดินหน้าสางหนี้ หรือให้เจรจาชะลอการจ่าย และหากต้องจ่ายหนี้ให้เอกชน กระทรวงมหาดไทยอาจต้องโยนเผือกร้อนรถไฟฟ้าสีเขียวทั้งขบวน กลับไปไว้ในมือของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

และแน่นอนว่า ในคณะรัฐมนตรี ย่อมมีร่างเงาของพรรคภูมิใจไทยในกระทรวงคมนาคม ที่ตระหง่านต้านแนวทาง ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอมาแล้วหลายรอบ

ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ขยายวงไปทั่วทั้งกระดานอำนาจการเมืองส่วนท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ