ตัวแทน ปชช.ยื่นฟ้อง กกท.-กสทช. เอื้อนายทุน กรณีถ่ายทอดบอลโลก

ศาลปกครอง ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

ตัวแทนประชาชนยื่นฟ้อง กกท.-กสทช. เอื้อประโยชน์นายทุน กรณีถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เผย 1 ล้านคนที่มีกล่องยี่ห้ออื่นต้องจอดำ ดูบอลโลกไม่ได้ พร้อมยื่นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวถ่ายฟุตบอลโลกทุกช่องทางตามกฎ Must Carry

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 มติชนรายงานว่า ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายนพรัตน์ พลสิงห์ และ น.ส.กุลธิดา เกิดแก่นแก้ว ตัวเเทนผู้รับมอบอำนาจนายนภดล วงษ์วิหค ตัวแทนประชาชนเดินทางมายื่นฟ้อง ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-4 กรณีการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดสรรลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมขอให้ศาลพิจารณาพิพากษา มีมาตราการคุ้มครองและมีคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยเร่งด่วน

โดยคำฟ้องสรุปว่า เนื่องจากการ กกท. ในฐานะผู้ซื้อและได้รับลิขสิทธิ์การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) มาจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ผ่านบริษัท อินฟรอนต์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย ในมูลค่า 1,300 ล้านบาท

โดยเงินจำนวนครึ่งหนึ่งกล่าวคือ 600 ล้านบาท มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทปส.) ส่วนที่เหลือได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือบริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งสนับสนุนเงินจำนวนเพียง 300 ล้านบาท

ตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนเสนอตาม พ.ร.

บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งการจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวให้แก่ กกท.นำไปซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถรับชมรายการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึง หรือรับรู้ และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป ไม่เลือกปฏิบัติ

กกท.มีหน้าที่และพันธกิจในการส่งเสริมการกีฬา ตามมาตรา 8 (1) แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 แต่หน้าที่อันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงกรณีนี้เกิดขึ้นจากการให้ความร่วมมือตามข้อตกลง แม้ว่าการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) จะเป็นหน้าที่โดยตรงของ กสทช.แล้ว

อย่างไรก็ตาม กกท.ก็มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) เช่นเดียวกันกับ กสทช. เนื่องจาก กกท.ได้รับรองในบันทึกความร่วมมือดังกล่าวว่า การแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) นั้น จะต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช.

ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่ในการร่วมกันกำกับการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ให้เป็นไปตามประกาศ Must Have, Must Carry

ที่มาของปัญหาในครั้งนี้คือ กกท.ทำสัญญาให้สิทธิในการใช้ลิขสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) เพียงผู้เดียวกับบริษัท ทรู ดิจิตอล กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ทรู วิชั่น กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (“กลุ่มทรู”) ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบไอพีทีวี (IPTV Transmission), ระบบอินเทอร์เน็ต (Internet Transmission), ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) และระบบอื่น ๆ ของทรูด้วย

เป็นกรณีที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้าอย่างแน่นอนว่าจะเป็นการปิดกั้นในบางช่องทางการแพร่เสียงแพร่ภาพ และสามารถดูได้จากช่องทางการแพร่เสียงแพร่ภาพของกลุ่มทรูเท่านั้น ซึ่งเป็นกรณีขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศ Must Have, Must Carry อันจะมุ่งหมายให้ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงการรับชมการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้อย่างทั่วถึงและทุกช่องทาง

โดย กกท.ไม่กระทำการใดอันเป็นการระงับการให้ลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวดังกล่าวต่อกลุ่มทรู และ กสทช.ก็มิได้กระทำการใดอันเป็นการห้ามมิให้ กกท.เข้าทำสัญญากับกลุ่มทรูในข้อดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด

จึงเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดสรรลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และไม่เลือกปฏิบัติ

การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีดังที่กล่าวมาข้างต้น ก่อให้เกิดปัญหาอย่างเห็นได้ชัด โดยประชาชนจำนวนเกือบ 1 ล้านคนที่มีกล่อง IPTV รับสัญญาณจากผู้ให้บริการอื่นอยู่แล้ว เช่น AIS Playbox, GMM Z, PSI, MVTV, DTV และอื่น ๆ ไม่สามารถเข้ารับชมการแพร่เสียงแพร่ภาพการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้อย่างทั่วถึง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของประกาศ Must Have, Must Carry ที่ กสทช.กำหนด ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนเกินสมควร ในการรับชมรายการถ่ายทอดสดดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในการซื้อกล่องรับสัญญาณทรู หรือ การติดตั้งเสาสัญญาณ (หนวดกุ้ง) เพิ่มเติม หรือหากมีการติดตั้งเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ของทรูจะส่งผลให้การรับชมไม่เสถียร

ผู้ฟ้องคดีจึงขอศาลปกครองกลางขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาพิพากษาโดยเร่งด่วน กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และขอให้ศาลมีคำขอและมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวโดยเร่งด่วน เพื่อลดการผลักภาระให้กับประชาชนตามหลักการ Must Have, Must Carry ที่ระบุไว้ชัดเจนแล้ว