อ.ธงทอง ตั้งคำถาม ปมดราม่าป้าย 33 ล้าน #สถานีกลางบางซื่อ

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
ภาพจากเพจ Tongthong Chandransu

อ.ธงทอง ตั้งคำถามปมดราม่าป้าย 33 ล้าน ทำถาวรแต่แรกทำไม จะซื่อสัตย์สุจริตหรือเปล่า

วันที่ 4 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การ​ว่าจ้างเอกชนเปลี่ยนป้ายชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลาง กรุงเทพอภิวัฒน์” และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเสนอราคาเป็นเงินทั้งสิ้น 33,169,726.39 บาท กลายเป็นวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างมาก

ประเด็นดังกล่าว ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รวมถึงกฎหมาย ได้โพสต์บนเฟซบุ๊ก ว่า “ถ้าคิดจะขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อใหม่ก็ไม่ควรทำป้ายให้ถาวรแต่แรกมิใช่หรือ จะได้ไม่ต้องเสียเงินสองรอบ”

พร้อมยังโพสต์ในคอมเมนต์อีกว่า “ถึงบางซื่อชื่อบางช่างชวนคิด จะซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่หนอ หรือซื่อแบบคิดน้อยไม่ค่อยพอ โอละพ่อซื่ออย่างไหนใคร่รู้เอย“​ ทำให้กลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตกำลังให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
ภาพจากเพจ Tongthong Chandransu

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าว ได้รับการชี้แจงว่า การรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่) ดำเนินการด้วย การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ”