ศักดิ์สยาม ตอบปมเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นประเพณีปฏิบัติ

สถานีกลางบางซื่อ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Bang Sue Grand Station สถานีกลางบางซื่อ

“ศักดิ์สยาม” ตอบปมป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นความต้องการของผม

วันที่ 5 มกราคม 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สด นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เรื่อง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อมูลค่า 33 ล้านบาท เหตุใดจึงต้องขอพระราชทานชื่อใหม่ และราคาที่ต้องใช้กว่า 33 ล้านบาทแพงไปหรือไม่ รวมทั้งเหตุใดต้องใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อจัดจ้าง

นายศักดิ์สยามชี้แจงว่า การขอพระราชทานชื่อไม่ใช่เพราะความต้องการส่วนตัว แต่เป็นการเปลี่ยนตามประเพณีปฏิบัติ เช่นเดียวกับโครงการใหญ่ ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน เช่น สนามบินหนองงูเห่า ที่เปลี่ยนเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ

พร้อมชี้แจงด้วยว่า กระทรวงคมนาคมริเริ่มการขอพระราชทานชื่อมาตั้งแต่ช่วงเดือน พฤษภาคม 2564 ก่อนที่จะมีการเปิดให้บริการใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อในปีเดียวกัน หลังจากนั้น ได้มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อ เมื่อ 8 มิถุนายน 2565

“เรื่องการเปลี่ยนชื่อ เป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นความต้องการของผม” นายศักดิ์สยามกล่าว

รมว.คมนาคมยังชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายที่ได้รับรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ตัวป้าย แต่ยังมีการดำเนินการอื่น เช่น ค่ารื้อถอน หรือการติดตั้งกระจกใหม่ เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ส่วนสาเหตุที่ใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่กระทบกับโครงการเดิมที่ดำเนินการอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ำประกันและเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วน ซึ่งจะรายงานผลภายใน 15 วัน

อย่างไรก็ตาม สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเลขที่ นร.0508/14784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ

สำนักพระราชวังแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อดังนี้

พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”

พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”

พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งการให้ ร.ฟ.ท. ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว สําหรับลักษณะป้ายชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” บริเวณโคมด้านหน้าสถานีกลางทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย

1) ตัวอักษรภาษาไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

2) ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Krung Thep Aphiwat Central Terminal” ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

ผลิตตัวอักษรด้วยอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทําป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2555

และคำสั่งใหม่ วันที่ 6 ธันวาคม 2555 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ป้ายอักษรติดตั้งโดยมีเสารับน้ำหนักในตัวอาคารและเจาะทะลุกระจก ตัวอักษรแต่ละตัว

ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคําสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้าย สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่งเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลางร่วมเป็นกรรมการ โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง

ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง

ให้คณะกรรมการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจง

หรือให้ถ้อยคําตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทําความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน