ถอดรหัส “สามารถ ราชพลสิทธิ์” เกาะติด “สายสีส้ม-สายสีเขียว” สะท้อนประโยชน์ใคร ?

ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซังข้ามปีสำหรับเรื่องรถไฟฟ้าสารพัดสีที่มีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่ว่ากรณี ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ที่ยังมีประเด็นปัญหาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานให้กับกลุ่ม บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ที่จะหมดในปี พ.ศ. 2572 ไปอีก 30 ปี หรือจนถึง พ.ศ. 2602

โดยอ้างเรื่องภาระหนี้สินที่ กทม.จ้าง BTSC เดินรถในส่วนต่อขยายเขียวเหนือและเขียวใต้ ซึ่งหากไม่ต่อสัมปทานให้ ก็ต้องจ่ายหนี้ก้อนโตนี้

พร้อมทั้งยังผูกพันไปถึงราคาค่าโดยสารที่ระบุว่า หากต่อสัมปทานให้จะตรึงราคาค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ทั้งที่ยังไม่มีที่มาที่ไปว่า 65 บาทคำนวณมาจากอะไร และสามารถลดราคาลงต่ำกว่านี้ได้หรือไม่

อีกทั้งยังระบุว่าหากไม่ต่อให้ราคาค่าโดยสารก็จะพุ่งทะลุเกินร้อย ซึ่งถือว่าเป็นอัตราค่าโดยสารต่อกิโลเมตร สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ หรืออังกฤษเสียอีก

จนถูกตั้งคำถามในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน ที่โจมตีว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการ ‘จัดฉากสร้างหนี้’ เพื่อให้มีข้อต่อรองให้เอกชนมีเงื่อนไขในการขอต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี และให้เร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ทั้งที่อายุสัมปทานยังเหลือถึงปี 2572

ส่วนอีกประเด็นที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นโรงขึ้นศาลกันเป็นว่าเล่น ก็คือ ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ที่เพิ่งเปิดซองประมูลไป และผลออกมาคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะการประมูลอย่างถูกต้องตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยขอรับการสนับสนุนจากรัฐ รวม 78,287 ล้านบาท ต่ำกว่าข้อเสนอของผู้แข่งขันอีกราย คือ ITD Group (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ Incheon Transit Corporation รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ขอสนับสนุน 102,635 ล้านบาท และต่ำกว่าผลการศึกษาของ รฟม. (ราคากลาง)

แต่แทนที่จะเดินหน้าโครงการได้ตามแผนงาน กลับมี ‘ขบวนการ’ จุดประเด็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะการยกตัวเลข 6.8 หมื่นล้านบาท ว่าเป็นตัวเลขที่ทำให้รัฐเสียหาย หากปล่อยให้การประมูลออกมาเป็นเช่นนี้

เป็นรถไฟฟ้า 2 สายที่เป็นปัญหาและหาทางคลี่คลายได้ยากยิ่งจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม หากลองย้อนดูเรื่องราวทั้งหมด ก็จะเห็น “ขาประจำ” บุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวมาตลอด

หนึ่งในนั้น ได้แก่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ในยุคนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย ซึ่งน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

เพราะท่าทีของนายสามารถต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวคือการสนับสนุนให้ต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปีในทันที เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินที่จ้าง BTSC เดินรถ 4.6 หมื่นล้าน ทั้งที่มีข้อกังขาเรื่องการจัดจ้างโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน หรือระยะเวลาที่ยังเหลืออีกมาก จนน่าจะมีทางออกที่ดีและเหมาะสมกับทุกฝ่าย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือน พ.ย. 2560 นายสามารถคนเดียวกันนี่เองยังเคยออกมาทักท้วงกรณี กทม.ว่าจ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสีเขียวใต้ จากแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.58 กิโลเมตร และเขียวเหนือจากหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.20 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 30.78 กิโลเมตร หากคิดค่าจ้างต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร และต่อระยะเวลา 1 ปี จะได้เท่ากับ 229.50 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี

พร้อมเปรียบเทียบกับกรณี “รฟม.” ว่าจ้าง BEM เดินรถสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี เป็นเงินรวม 82,624.75 ล้านบาท หรือคิดเป็น 119.75 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี

หมายความว่า ค่าจ้าง BTS แพงกว่าค่าจ้าง BEM มากถึง 109.75 ล้านบาท/กิโลเมตร/ปี หรือคิดเป็น 91.6 เปอร์เซ็นต์ พร้อมเรียกร้องให้ กทม.เร่งแก้ปัญหาเพราะใช้เงินภาษีของประชาชนมาใช้จ่าย !??

แต่เวลาเพียงแค่ผ่านไปไม่กี่ปี ประเด็นเรื่องจ้างเดินรถแพง ใช้ภาษีอย่างไม่คุ้มค่า ไม่ถูกนายสามารถนำเสนออีกแล้ว มีเพียงการสนับสนุนให้ต่อสัมปทานสายสีเขียวโดยเร็วเท่านั้น จึงมีกระแสเสียงตั้งคำถามจากบางภาคส่วนในสังคมว่ามันเกิดอะไรขึ้น !?

ขณะเดียวกัน ในเรื่องของรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น นายสามารถเองก็เป็น 1 ในผู้จุดประเด็นเรื่องรัฐเสียหาย 6.8 หมื่นล้านบาท จนถูกตั้งคำถามว่าตัวเลขดังกล่าวมีที่มาที่ไปจากที่ใดกันแน่

ล่าสุดก็จึงมาถึง “บางอ้อ” เมื่อพบว่าเป็นการนำตัวเลขที่ BEM ชนะประมูล โดยขอรับการสนับสนุนจากรัฐ 78,287 ล้านบาท มาลบกับตัวเลขของกลุ่ม BTSC ที่ยื่นในการประมูลครั้งแรก ขอรับสนับสนุนจากรัฐ 9,676 ล้านบาท มาลบกันจนเป็นตัวเลข 6.8 หมื่นล้านบาทนั่นเอง

กลายเป็นคำถามว่าจริง ๆ แล้วทำแบบนี้ได้จริงหรือ !?

เพราะตามขั้นตอนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นซองประมูลเพียง 2 ราย คือ BEM และ ITD Group ซึ่งการประมูลดังกล่าวก็เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมของคณะกรรมการ ตามมาตรา 36 การระบุเงื่อนไข ขายซอง และยื่นประมูล

แต่ข้อเท็จจริง คือ BTSC ไม่ได้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ และนำตัวเลขจากที่ยื่นประมูลเมื่อปี 2563 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยเป็นการยกเลิกไปก่อนจะเปิดซอง เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต และศาลชี้ว่าไม่ได้ทำอะไรผิด

ตามมาด้วยข้อสงสัยว่า แล้วเหตุใด BTSC ถึงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งที่ผ่านมา แล้วเอาตัวเลขเก่าออกมาโจมตี ทั้งที่ตัวเลข 78,287 ล้านบาท ของ BEM นั้นผ่านการประเมินทั้งเทคนิคและการเงิน แต่ตัวเลข 9,676 ล้านบาท กลายเป็นตัวเลขลอย ๆ ที่ไม่มีที่มาที่ไป

หากทำกันอย่างนี้ได้ ต่อไปหากมีเอกชนรายใดออกมาเปิดตัวเลขที่ถูกกว่าของ BTSC ก็เท่ากับจำเป็นต้องให้งานกับบริษัทเจ้านั้นหรือไม่ อย่างไร !?

แล้วหลักเกณฑ์ ข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ จะยังต้องยึดถืออยู่หรือไม่ !

ที่สำคัญที่สุด คือ ทำไมนายสามารถถึงต้องเอาตัวเลขที่ไม่ผ่านการประมูล ของ BTSC มาเป็นตัวตั้ง เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะเช่นนี้ ??

เป็นเพราะห่วงว่าประเทศชาติจะเสียประโยชน์ หรือมีปมประเด็นลับลมคมในใด ๆ แฝงอยู่เบื้องหลัง

หากมองความเคลื่อนไหวต่อกรณีรถไฟฟ้าทั้ง 2 สายของนายสามารถ..สังคมก็คงจะพอรู้สึกได้ และอดสงสัยไม่ได้ว่าประโยชน์ของประชาชนที่กล่าวอ้างนั้น จริง ๆ แล้วหมายถึงอะไรกันแน่ !