สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เรื่องควรรู้ ก่อนเปิดเต็มรูปแบบ 19 ม.ค. 66

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีกลางบางซื่อ

รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการบริการใน สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนเปิดเป็นสถานีต้นทางรถไฟทางไกลและให้บริการเต็มรูปแบบ 19 มกราคม 2566

จากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ สายใต้ สายอีสาน ของขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน ให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) จะไม่ใช่เพียงแค่เป็นสถานีสำหรับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอีกต่อไป แต่จะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เชื่อมโยงทั้งการเดินทางด้วยรถไฟทางไกล รถไฟฟ้าสู่พื้นที่ในเมือง และการเดินทางรูปแบบอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตอีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายละเอียดสำคัญที่ควรรู้ เกี่ยวกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนเริ่มใช้งานเต็มรูปแบบ 19 มกราคม 2566 ที่จะถึงนี้

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีอะไรบ้าง

สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) มีพื้นที่ใช้สอย 274,192 ตร.ม. และมี 24 ชานชาลา รองรับรถไฟระบบต่าง ๆ

ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน พื้นที่จอดรถยนต์ สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน และพื้นที่จอดรถยนต์ผู้พิการ 19 คัน

ชั้นลอย พื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้า OTOP และสินค้าที่น่าสนใจหลายรายการ รวมทั้งเป็นพื้นที่ของห้องควบคุมของสถานีกลางบางซื่อ

ชั้น 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร พื้นที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT

ชั้น 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับชานชาลารองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา

ชั้น 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ชานชาลา

ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีอุโมงค์ทางเดิน ระยะทาง 700 เมตร เชื่อมทะลุถึง MRT สถานีบางซื่อ เชื่อมสู่พื้นที่ใกล้เคียงสถานีบางซื่อ และห้องน้ำไว้บริการ โดยทั้งสถานีจะมีห้องน้ำรวม 713 ห้อง กระจายไปตามชั้นต่าง ๆ ยกเว้นชั้นชานชาลา

ส่วนการเดินทางเชื่อมต่อสู่ระบบอื่น ๆ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีระบบการเดินทางรองรับครบครัน ทั้งรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) รถทัวร์และรถตู้ สู่พื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)

และรองรับการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีจำนวนที่จอดรถ รองรับได้ถึง 1,700 คัน

รถไฟทางไกลขบวนไหน วิ่งจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ?

การรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดให้รถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ 52 ขบวน เปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง มาที สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ดังนี้

สายเหนือ 14 ขบวน

ขบวนที่ 7, 8, 9, 10, 13, 14, 51, 52, 102, 107, 108, 109, 111, 112

สายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน

ขบวนที่ 21, 22, 23, 24, 25, 26, 71, 72, 75, 76, 133, 134, 135, 136, 139, 140, 141, 142

สายใต้ 20 ขบวน

ขบวนที่ 31, 32, 37, 38, 39, 40, 43, 44, 45, 46, 83, 84, 85, 86, 167, 168, 169, 170, 171, 172

ส่วนขบวนรถไฟทางไกล กลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว ทุกสาย จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการต้นทาง-ปลายทาง สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตามเดิม

ขณะที่การเดินรถไฟทางไกล สำหรับรถไฟขบวนด่วน 52 สถานี จะเดินรถบนทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยแบ่งเป็น 2 แบบ

  • สายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ วิ่งบนทางยกระดับตั้งแต่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีดอนเมือง
  • สายใต้ วิ่งบนทางยกระดับตั้งแต่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงสถานีบางบำหรุ

โดยการเปลี่ยนมาวิ่งขบวนรถไฟบนทางยกระดับ ทำให้มีการยกเลิกสถานีและป้ายหยุดรถไฟระดับพื้นดิน ดังนี้

  1. ป้ายหยุดรถไฟ กม.11
  2. สถานีบางเขน
  3. ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง
  4. สถานีหลักสี่
  5. ที่หยุดรถการเคหะ กม.19

ส่วนกลุ่มขบวนรถธรรมดา ขบวนรถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยวทุกสาย จะเดินรถจาก สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปจนถึง ชุมทางบางซื่อ และจะขึ้นทางยกระดับเดินรถร่วมกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง ยกเว้นขบวนรถธรรมดา และชานเมืองในเส้นทางสายใต้ จะเดินรถระดับพื้นดินตั้งแต่สถานีชุมทางบางซื่อไปตามเส้นทางเดิม

อย่างไรก็ตาม การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา ที่เคยขึ้น-ลง สถานีและที่หยุดป้าย ระดับพื้นดิน รวมถึงผู้โดยสารขบวนรถชานเมือง สามารถเข้าใช้ระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ ดังนี้

  • ขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา แสดงตั๋วโดยสาร
  • ขบวนรถชานเมือง แสดงตั๋วเดือน

เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟ ที่สถานีดอนเมือง (ยกระดับ) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่บนตั๋วโดยสาร

ส่วนการซื้อตั๋วรถไฟทางไกล ยังสามารถซื้อได้ผ่านทุกช่องทางของการรถไฟฯ ตามปกติ แต่จะไม่มีการจำหน่ายตั๋วในสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง

  • สถานีจตุจักร
  • สถานีวัดเสมียนนารี
  • สถานีบางเขน
  • สถานีทุ่งสองห้อง
  • สถานีหลักสี่
  • สถานีการเคหะ
  • สถานีหลักหก

นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถสำรองที่นั่งล่วงหน้า ผ่านแอปพลิเคชั่นของการรถไฟฯ “D-Ticket” ช่องทางออนไลน์ และตรวจสอบเวลาการเดินรถ ราคาตั๋วโดยสาร ผ่านแอปพลิเคชั่น “SRT Timetable กำหนดเวลาเดินรถ” ดาวน์โหลดได้แล้ว ทั้ง IOS และ Android ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ขึ้นรถไฟทางไกล ต้องซื้อตั๋วและรอรถไฟตรงไหน ?

สำหรับการซื้อตั๋ว สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ มีจุดจำหน่ายตั๋ว ทั้งทางเข้าประตู 4 และทางเข้าประตู 13 บริเวณลานเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดง และ MRT สายสีน้ำเงิน โดยมีช่องให้บริการซื้อตั๋วโดยสาร รวมมากถึง 18 ช่อง

ขณะที่จุดพักคอย จะสามารถพักคอยได้ที่บริเวณโถงสถานี บริเวณประตู 4 เพื่อรอรถไฟเทียบชานชาลา และขึ้นไปชานชาลารถไฟที่ชั้น 2

ส่วนชานชาลารถไฟที่ชั้น 2 จะมีทั้งรถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งเป็น

  • ชานชาลาที่ 1 และ 2 – ขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาออก)
  • ชานชาลาที่ 3 และ 4 – ขบวนรถไฟชานเมือง สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)
  • ชานชาลาที่ 5 และ 6 –  ขบวนรถไฟทางไกล สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ (ขาเข้า)
  • ชานชาลาที่ 7 และ 8 – ขบวนรถไฟทางไกล สายใต้ (ขาออก)
  • ชานชาลาที่ 9 และ 10 – ขบวนรถไฟชานเมือง สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)
  • ชานชาลาที่ 11 และ 12 – ขบวนรถไฟทางไกล สายใต้ (ขาออก)

จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เชื่อมสู่พื้นที่อื่นอย่างไร ?

สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางจาก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้ ดังนี้

  • MRT บางซื่อ เชื่อมต่อได้ทั้งระบบรถไฟฟ้า BTS ที่ MRT สถานีสวนจตุจักร และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง และเดินทางสู่พื้นที่ จ.นนทบุรี ที่ MRT สถานีเตาปูน
  • รถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง และเดินทางสู่พื้นที่รังสิต จ.ปทุมธานี
  • รถเมล์ สามารถเดินทางสู่หลายพื้นที่ของ กทม.ได้ โดยมีป้ายรับ-ส่งผู้โดยสาร ที่ประตู 4 และ 11

Shuttle Bus ฟรี เชื่อม “หัวลำโพง-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย จัดรถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี ในเส้นทาง “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ทางด่วน)” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทาง เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟทั้ง 2 แห่ง

โดยรถที่ให้บริการจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศ NGV แบบชานต่ำ (Low Floor) จำนวน 6 คัน ให้บริการจากต้นทางท้ัง 2 สถานีรถไฟ คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)

สำหรับการเดินรถ จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้บริการรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้บริการตั้งแต่ 12.00-23.00 น. จากนั้นจะให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 04.30-23.00 น. โดยตลอดการให้บริการรถ Shuttle Bus จะปล่อยรถให้บริการทุก 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี

ข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนแปลงขบวนรถไฟทางไกลง, มาตรการอำนวยความสะดวก)