เปิดไฮไลต์ ”สถานีกลางบางซื่อ” รถไฟจัดให้ห้องน้ำ 713 ห้อง

สถานีกลางบางซื่อ

สถานีกลางบางซื่อ เพิ่มจำนวนห้องน้ำ 713 ห้อง แก้ปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอต่อผู้โดยสาร 

วันที่ 12 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังนับถอยหลังเปิดบริการปลายปี 2564 พร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต สำหรับ “สถานีกลางบางซื่อ” ศูนย์กลางระบบรางใหญ่สุดในประเทศไทยและอาเซียน ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ทุ่มงบประมาณก่อสร้างกว่า 30,000 ล้านบาท

นอกจากจะดีไซน์ให้เป็น “สถานีรถไฟ” มีพื้นที่ใหญ่โต ด้วยพื้นที่ใช้สอย 274,192 ตร.ม. และมี 24 ชานชาลา รองรับรถไฟระบบต่าง ๆ

ยังแบ่งการใช้งานสถานี ออกเป็น 5 ชั้น เริ่มจากชั้นใต้ดิน พื้นที่ 72,542 ตร.ม.เป็นที่จอดรถ 1,624 คัน

ชั้น 1 พื้นที่ 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอย ห้องน้ำ และจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

ชั้นลอย พื้นที่ 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้น 2 พื้นที่ 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลารถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟทางไกล และ ชั้นที่ 3 พื้นที่ 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง

นอกจากนี้บริษัท ดีไซน์ คอนเซ็ปต์ จำกัด ผู้ออกแบบ ยังออกแบบให้”สถานีกลางบางซื่อ”เป็นสถานีปลอดมลพิษ เนื่องจากจะมีรถไฟที่เป็นระบบไฟฟ้าเท่านั้นที่มาใช้บริการได้

ขณะที่ภายนอกสถานี จะมีลานพระบรมราชานุสาวรีย์ มีพื้นที่ 186,030 ตร.ม. และบึงน้ำขนาด 14,000 ตร.ม. ให้เป็นลานน้ำพุประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

อีกหนึ่งไฮไลต์ “นาฬิกาหน้าปัดเลข ๙” ประจำสถานี ติดตั้งบนผนังหน้ากระจกทางเข้าสถานี ที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล

จะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของสถานี ที่ออกแบบเพื่อน้องรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิผลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก จะลิฟท์ บันไดเลื่อน ติดตั้งป้ายบอกทางไปยังจุดต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ จุดจอดรับส่งผู้โดยสาร รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้าใต้ดิน จะมีอุโมงค์ทางเดิน ระยะทาง 700 เมตร เชื่อมทะลุถึงสถานีบางซื่อ เป็นต้น

สำหรับการบริการภายในสถานี จะครบครันทั้งร้านค้า ศูนย์อาหาร และห้องน้ำไว้บริการ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้สร้างห้องน้ำเพิ่มขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนสนามบินสุวรรณภูมิที่เปิดบริการช่วงแรกไม่เพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ โดยทั้งสถานี จะมี 713 ห้อง กระจายไปตามชั้นต่างๆ ยกเว้นชั้นชานชาลา

อย่างไรก็ตามในช่วงแรกการเปิดให้บริการ “สถานีกลางบางซื่อ” จะทำหน้าที่เป็นเพียงจุดขึ้นลงของรถไฟฟ้าเท่านั้น ยังไม่มีพื้นที่เชิงพาณิชย์ไว้บริการ รอร.ฟ.ท.คัดเลือกเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่สถานีในระยะต่อไป

อีกทั้งการเปิดบริการจะถึงแค่ชั้น 2 ซึ่งเป็นชานชาลารถไฟทางไกลเท่านั้น ส่วนชั้นที่ 3 จะปิดตายรอจนกว่ารถรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสร้างเสร็จเปิดบริการหลังปี 2568 เป็นต้นไป