
เปิดอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการกลาโหม มีตำแหน่งไหนบ้าง อัตราเท่าไร
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงาน ตามที่มี ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. จะได้รับการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้
- โรงเรียนเอกชนวิกฤต ส่อปิดกิจการอีกหลายแห่ง กรุงเทพฯ หนักสุด
- เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่งวชิราวุธวิทยาลัย จากรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
- อย.สั่งอายัดอาหารนำเข้าจากจีน 124 รายการ 7 ร้านจำหน่ายใน กทม.
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการปรับบัญชีเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนกลาโหมแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนฯ จากเดิม จัดทำบัญชีเงินเดือนแบบขั้นเช่นเดียวกับข้าราชการทหาร เป็น ให้จัดทำบัญชีเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนในแต่ละประเภท คือ กำหนดเพียงขั้นต่ำ ขั้นสูง และให้แยกบัญชีเงินเดือนฯ ตามประเภทของข้าราชการพลเรือนกลาโหม ไม่นำมารวมเป็นบัญชีเดียวกัน
เปิดมาตราสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง
ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหม พ.ศ. …. ประกอบด้วย 8 มาตรา โดยมีมาตราที่น่าสนใจ อาทิ
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 4 ให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งในแต่ละประเภทตามที่กำหนดไว้ในบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนกลาโหมท้ายพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 5 ข้าราชการพลเรือนกลาโหมอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมท้ายพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 6 คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาปรับเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงหรือเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนกลาโหมให้เหมาะสมยิ่งขึ้นตามความจำเป็นก็ได้
โดยหากเป็นการปรับเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง หรือเงินประจำตำแหน่งเพิ่ม ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือน หรือ เงินประจำตำแหน่งที่ใช้บังคับอยู่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และให้ถือว่าเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง และเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง และเงินประจำตำแหน่งท้ายพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 7 ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมได้รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม กระทรวงกลาโหมอาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนกลาโหมได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่งตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
มาตรา 8 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
โดยตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม มี 5 ประเภท ได้แก่
1.ตำแหน่งประเภทบริหาร
ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานบริหารราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ รองหัวหน้าส่วนราชการ และตำแหน่งอื่นตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
2.ตำแหน่งประเภทอำนวยการ
ได้แก่ ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานด้านอำนวยการ ปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการ รองหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดส่วนราชการซึ่งมิใช่ตำแหน่งตามประเภทบริหาร มีระดับต้น และสูงและตำแหน่งอื่นตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
3.ตำแหน่งประเภทวิชาการ
ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่กลาโหมกำหนด เพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น
4.ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย
ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ กห. กำหนด เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม และ
5.ตำแหน่งประเภททั่วไป
ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งตาม ข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 ตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนกลาโหม ประกอบด้วย
1.ตำแหน่งประเภทบริหาร มีระดับต้น และสูง
2.ตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีระดับต้น และสูง
3.ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีระดับปฏิบัติการ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ
4.ตำแหน่งประเภทการสอนหรือวิจัย ดังนี้ ประเภทครู (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหม) มีระดับครู ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ
ประเภทคณาจารย์ (ปฏิบัติหน้าที่ด้านการสอนหรือวิจัยในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหมที่ให้การศึกษาหรือจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา) มีระดับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์
5.ตำแหน่งประเภททั่วไป มีระดับปฏิบัติงาน ชำนาญงาน อาวุโส และทักษะพิเศษ
ขั้นเงินเดือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการสามัญภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญแบ่งออกเป็นกลุ่มตำแหน่งดังนี้
ระดับประเภททั่วไป
- ระดับปฏิบัติงาน เงินเดือนระหว่าง 4,870-21,010 บาท
- ระดับชำนาญงาน เงินเดือนระหว่าง 10,190-38,750 บาท
- ระดับอาวุโส เงินเดือนระหว่าง 15,410-54,820 บาท
- ระดับทักษะพิเศษ เงินเดือนระหว่าง 48,220-69,040 บาท
ระดับประเภทวิชาการ
- ระดับปฏิบัติการ เงินเดือนระหว่าง 7,140-26,900 บาท
- ระดับชำนาญการ เงินเดือนระหว่าง 13,160-43,600 บาท
- ระดับชำนาญการพิเศษ เงินเดือนระหว่าง 19,860-58,390 บาท
- ระดับเชี่ยวชาญ เงินเดือนระหว่าง 24,400-69,040 บาท
- ระดับทรงคุณวุฒิ เงินเดือนระหว่าง 29,980-76,800 บาท
ระดับประเภทการสอนวิจัย
- ระดับอาจารย์ เงินเดือนระหว่าง 15,000-43,600 บาท
- ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ เงินเดือนระหว่าง 19,900-59,500 บาท
- ระดับรองศาสตราจารย์ เงินเดือนระหว่าง 22,080-70,360 บาท
- ระดับศาสตราจารย์ เงินเดือนระหว่าง 24,460-76,800 บาท
- ครู เงินเดือนระหว่าง 15,000 – 34,800 บาท
- ครู ชำนาญการ เงินเดือนระหว่าง 16,190-41,620 บาท
- ครู ชำนาญการพิเศษ เงินเดือนระหว่าง 19,190-58,390 บาท
- ครู เชี่ยวชาญ เงินเดือนระหว่าง 24,400-69,040 บาท
- ครู เชี่ยวชาญพิเศษ เงินเดือนระหว่าง 29,980-76,800 บาท
ระดับประเภทอำนวยการ
- ระดับต้น เงินเดือนระหว่าง 19,860-59,500 บาท
- ระดับสูง เงินเดือนระหว่าง 29,980-76,800 บาท
ระดับประเภทบริหาร
- ระดับต้น เงินเดือนระหว่าง 24,400-74,320 บาท
- ระดับสูง เงินเดือนระหว่าง 29,980-76,800 บาท
