ส่องช่องโหว่-อุดรอยรั่ว ทุจริตเงินผู้มีรายได้น้อย

คดีโกงเงินคนจนและเงินผู้ป่วยเอดส์ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บางส่วน ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำนวน 6.9 ล้านบาท ทำท่าจะเป็นมหากาพย์ไม่แพ้คดีโกงเงินสร้างสนามฟุตซอล ของกระทรวงศึกษาธิการ

เพราะยิ่งตรวจสอบยิ่งพบการทุจริต ไม่เพียงที่ศูนย์จังหวัดขอนแก่น และเชียงใหม่ ล่าสุดยังพบศูนย์จังหวัดบึงกาฬ หนองคาย และสุราษฎร์ธานี ที่อาจมีพฤติการณ์เดียวกัน อาทิ ทำเอกสารไม่ถูกต้อง ผู้รับการช่วยเหลือไม่ได้รับเงินตามที่อนุมัติ จากภาพรวมทั่วประเทศที่มี 154 ศูนย์ ซึ่งทยอยตรวจสอบกันอยู่

ซึ่งแม้ นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวง พม. จะตั้งโต๊ะแถลงข่าวว่า “ระเบียบการจ่ายเงินสงเคราะห์ชัดเจนและดีอยู่แล้ว เรื่องดังกล่าวเป็นความผิดส่วนบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ” ถือโอกาสรู้จักเงินอุดหนุนสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งหาช่องโหว่ และอุดรอยรั่ว

การจ่ายเงินดังกล่าวรองรับโดยระเบียบกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการว่าด้วยการสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง พ.ศ.2552 ซึ่งกระบวนการสรุปง่ายๆ คือ การที่เจ้าหน้าที่ศูนย์หรืออาสาสมัคร พม.ไปเจอผู้เดือดร้อนหรือคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่ หรือที่เข้ามาขอความช่วยเหลือเองที่ศูนย์ ศูนย์ก็จะส่งนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงและบันทึกข้อมูล แล้วนำกลับมาวิเคราะห์หาแนวทางช่วยเหลือ มีตั้งแต่การให้เงิน ให้สิ่งของอุปโภคบริโภค ให้เข้ารับการศึกษา เข้ารับการรักษาพยาบาล ก่อนเสนอให้อธิบดี พส.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งคือ “ผู้อำนวยการศูนย์” ตามที่นางนภาให้สัมภาษณ์เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

โดยเฉพาะการสงเคราะห์ด้วยเงิน ผอ.ศูนย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าครอบครัวผู้เดือดร้อนนั้นจะได้รับเงินสงเคราะห์ในวงเงินเท่าไหร่ ซึ่งมีตั้งแต่ 1,000 2,000 และไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง โดยต่อปีงบประมาณจะได้ไม่เกิน 3 ครั้ง จากนั้นมอบหมายเจ้าหน้าที่ไปมอบเงิน ซึ่งระเบียบให้จ่ายได้ใน 2 แนวทาง คือ เช็คและเงินสด

ด้วยการกระจายอำนาจให้ ผอ.ศูนย์สกรีนเองหมด ตั้งแต่การตรวจเอกสารรับรองการขอเงิน การพิจารณาเบิกจ่ายเงินให้ใคร จำนวนเท่าไหร่ บ้างอาจมองว่าดีในแง่บริหารจัดการ แต่หากไปเจอผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ไม่ดีก็จบเห่ เพราะขั้นตอนทั้งหมดนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ได้ติดประกาศให้ทราบตามสาธารณะ จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา ตั้งแต่ได้เงินไม่ครบตามที่อนุมัติ ไม่ได้เงินเลยทั้งที่ได้รับการอนุมัติ อนุมัติและเบิกจ่ายแล้วแต่เงินไปไม่ถึงผู้เดือดร้อน และจะยิ่งเลวร้ายไปอีก หากเขาเหล่านั้นทำกันเป็นขบวนการ ตั้งแต่ระดับล่างอย่างเจ้าหน้าที่หาเคส จนถึง ผอ.ศูนย์ที่มีอำนาจพิจารณา ดั่งปรากฏข่าวตรวจสอบทุจริตขณะนี้

ฉะนั้น การแก้ปัญหาลำดับแรกคือการประกาศผลการดำเนินงานผ่านสาธารณะ โดยติดป้ายประกาศหน้าหน่วยงานไปเลยว่าครอบครัวเดือดร้อนนี้ได้รับเงินสงเคราะห์เท่าไหร่ หรืออยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนขั้นตอนการจ่ายเงิน ให้พยายามจ่ายเป็นเช็คมากขึ้น เพราะการันตีว่าจะเข้าบัญชีผู้เดือดร้อนโดยตรง หรือหากจ่ายเงินสด ก็เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะการจ่ายเงินโดยมีประจักษ์พยานหลักฐาน ทั้งภาพถ่าย ตัวบุคคล เบอร์โทรติดต่อผู้เดือดร้อนหรือประจักษ์พยานเพื่อรีเช็กหลังรับมอบ

นอกจากนี้ ควรเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ละเอียด โดยเฉพาะการมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาช่วยสกรีนการเบิกจ่ายงบประมาณอีกชั้น แม้อาจทำให้กระบวนการช้าไปบ้าง แต่ก็จะช่วยเช็กบาลานซ์ได้ดี

เพราะเงินเพื่อคนจนและคนเดือดร้อนเหล่านี้ เมื่อรวมกันแล้วมากมายมหาศาลเลยทีเดียว โดยในปีงบประมาณ 2560 ที่มีปัญหาทั้ง 154 ศูนย์ได้รับงบรวมทั้งสิ้น 439 ล้านบาท ระบุว่าสามารถช่วยประชาชนได้ 246,872 ราย ย้อนหลังไปปีงบประมาณ 2559 ได้งบทั้งสิ้น 599 ล้านบาท ช่วยประชาชนได้ 298,022 ราย ขณะที่ในปีงบประมาณ 2561 นี้ ได้งบงวดแรกไปแล้ว 274 ล้านบาท ช่วยประชาชนไปแล้ว 137,239 ราย

เพื่อให้งบประมาณและความหวังดีของรัฐถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์