วันมาฆบูชา หัวใจของพระพุทธศาสนา

วันมาฆบูชา
ภาพจาก PIXABAY

วันมาฆบูชา หัวใจของพระพุทธศาสนา

วันที่ 3 มีนาคม 2566 ใกล้เข้าสู่วันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันจันทรคติของไทย คือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยในปีนี้ตรงกับวันที่ 6 มีนาคม 2566 ซึ่งมีความสำคัญคือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่มีใจความสำคัญว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์”

วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่า ครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระภิกษุ 1,250 รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย

พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน 3 ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หรือวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4

ปัจจุบันวันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า

เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ”