วันมาฆบูชา 10 วัดยอดฮิต คนกรุงเทพฯ ชอบไปเวียนเทียน

วัดโพธิ์ พระพุทธรูป
วัดโพธิ์ (Photo by Ludovic MARIN / POOL / AFP)

วันมาฆบูชาของทุกปี คนไทยทุกคน จะต้องออกไปทำบุญตักบาตร เพื่อเสริมสิริมงคล ตอนเย็นก็จะมีกิจกรรมหลักคือ การเวียนเทียน ส่วน 10 วัดยอดฮิต ที่คนกรุงเทพฯชอบไป เช็กที่นี่

วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันมาฆบูชา 2566 ในปีนี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม หรือวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 โดยวันมาฆบูชา มักจะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ในปฏิทินสากล แต่หากปีใดมีเดือน 8 สองหน เช่นเดียวกับปี 2566 นี้ วันมาฆบูชาก็จะตรงกับช่วงเดือนมีนาคม และวันมาฆบูชาของทุกปี จะเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชน ที่จะออกไปทำบุญตักบาตร เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ตอนเย็นก็จะมีกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯชอบทำ นั่นคือ “เวียนเทียน”

10 สถานที่ยอดฮิต “เวียนเทียน” วันมาฆบูชา 2566 ในกรุงเทพฯ

วัดโพธิ์

วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ การเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสนามไชย ทางออกที่ 1 เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 19.00 น.

วัดหัวลำโพง

เป็นวัดเก่าแก่โบราณ สร้างมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ประมาณรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 พระประธานในโบสถ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า พระพุทธมงคล ซึ่งตามความเชื่อแล้ว การขอพรกับพระพุทธรูปปางมารวิชัย จะช่วยปกป้องในเรื่องของภัยจากศัตรู และการเงินต่าง ๆ เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีสามย่าน ออกทางออกที่ 1 เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 19.30 น.

วัดสระเกศ

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดสะแก ตั้งอยู่ที่ถนนจักรพรรดิพงษ์ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นวัดโบราณ สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดสระแก” รัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ขุดคลองรอบเมืองตั้งแต่บางลำพูถึงตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส คลองหลอด และคลองเหนือวัดสระแก พระราชทานนามว่า คลองมหานาค เมื่อขุดคลองแล้วพระราชทานนามว่า “วัดสระเกศ” ซึ่งแปลว่า ชำระหรือทำความสะอาดพระเกศา การเดินทางมาวัดสระเกศรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีสามยอด แล้วเดินไปตามถนนเจริญกรุง เข้าถนนวรจักร ต่อรถเมล์ หรือรถสามล้อ เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 19.30 น.

วัดปทุมวนาราม

วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ สถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2400 ในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งที่วัดแห่งนี้มีหลวงพ่อพระเสริม เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แบบศิลปะล้านช้างเวียงจันทน์ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระไส” หรือ “พระสายน์” เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยจากเวียงจันทน์ และพระเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ มีจุดเด่นคือเป็นวัดกลางเมือง ระหว่างย่านการค้า 2 แห่ง คือ ย่านสยาม และย่านราชประสงค์ การเดินทางนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส BTS ลงสถานีสยาม แล้วออกทางออกที่ 5 เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 19.30 น.

วัดยานนาวา

วัดยานนาวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนเจริญกรุง เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีจุดเด่น คือ สำเภายานนาวา ที่โดดเด่นมาแต่ไกล นอกจากนั้นก็มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ และเจดีย์องค์เล็ก ๆ อยู่ในลำสำเภารวมอีกด้วย และยังมีภาพจิตรกรรมกระทงใหญ่ ที่ถอดแบบมาจากพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคู เหมือนแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระ ในพระราชพิธีสารทในสมัยรัชกาลที่ 3 การเดินทางสามารถนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส BTS ลงสถานีตากสิน แล้วออกทางออกที่ 4 เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 20.00 น.

วัดธาตุทอง

วัดธาตุทอง เป็นวัดเก่าที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2481 ในส่วนของพระอุโบสถ ภายในประดิษฐาน “พระสัพพัญญู” พระประธานประจำพระอุโบสถ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย และส่วนของพระวิหาร “สิมปาภรณ์” เป็นพระวิหารหลังเก่าที่มีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2514 ภายในประดิษฐาน พระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน การเดินทางสามารถนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส BTS ลงสถานีเอกมัย แล้วออกทางออกที่ 3 เปิดให้เริ่มเวียนเทียนได้ตั้งแต่ 08.00 น. ถึงเวลา 23.59 น.

วัดไตรมิตร

วัดไตรมิตรวิทยาราม หรือที่เรียกว่า วัดสามจีน ซึ่งสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัด ก็คือ พระมหามณฑป ที่เป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือหลวงพ่อทองคำ ที่วิจิตรงดงามอย่างมาก และยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 อีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีพระอุโบสถ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า พระพุทธทศพลญาณ หรือ หลวงพ่อโตวัดสามจีน รวมไปถึงพระวิหาร และธรรมาสน์ลายทองเท้าสิงห์ การเดินทาง สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพง ออกทางออกที่ 1 เริ่มพิธีเวียนเทียนเวลา 20.00 น.

วัดสุทัศน์

วัดสุทัศนเทพวราราม หรือวัดสุทัศน์ เสาชิงช้า เป็นวัดที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 2350 ภายในวัด ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัยค่ะ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐานที่นี่อีกด้วย การเดินทางรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ออกจากสถานีสามยอด ทางออกที่ 3 เลี้ยวขวาเดินไปตามถนนอุณากรรณ ระยะทางประมาณ 750 ม.

วัดระฆัง

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดระฆัง สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัดในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงถูกเรียกว่า “วัดระฆัง” ตั้งแต่นั้นมา เป็นวัดสวยริมแม่น้ำเจ้าพระยา การเดินทางสามารถเดินทางโดยรถประจำทางสาย 19, 57, 83 ลงป้ายหน้าวัดระฆัง หรือทางเรือนั่งเรือด่วนขึ้นที่ท่าวังหลัง และมีเรือข้ามฟากจากท่าช้้าง มาวัดระฆัง

วัดชนะสงคราม

วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร หรือวัดชนะสงคราม เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาค่ะ เดิมมีชื่อว่า วัดกลางนา ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี บริเวณนี้เป็นชุมชนมอญ จึงมีพระสงฆ์มอญจำพรรษาอยู่ และต่อมาเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เมื่อทรงมีชัยชนะต่อข้าศึก ในสงคราม 9 ทัพ นับว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ ภายในวัด ประดิษฐานพระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ เป็นพระประธาน การเดินทางก็สามารถเดินทางมาได้โดยรถประจำทางสาย 2, 3 และ 33 หรือมาทางเรือก็มาลงที่ท่าพระอาทิตย์ได้ MRT ที่ใกล้ที่สุดจะเป็นสถานีสนามไชย


ทั้งนี้ วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งมีเหตุการณ์สําคัญ ที่เรียกว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” ดังนี้

  1. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งพระสงฆ์เหล่านี้ต่างแยกย้ายไปจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ
  2. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทุกรูป โดยได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เรียกว่าวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
  3. พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
  4. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์