กรมการแพทย์แนะ 2 วิธีป้องกันอันตรายจากซีเซียม 137

ซีเซียม 137

กรมการแพทย์แนะ 2 วิธีลดการปนเปื้อนรังสีทั้งแบบแห้งและแบบเปียก พร้อมเผยอาการต้องสงสัยจากการได้รับรังสี

วันที่ 16 มีนาคม 2566 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติซีเซียม-137 มีลักษณะเป็นของแข็ง คล้ายผงเกลือ สามารถฟุ้งกระจายได้เมื่อแตกออกจากที่ห่อหุ้มไว้ และปล่อยรังสีบีตาและแกมมาที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพออกมา

โดยผลกระทบต่อสุขภาพจะขึ้นกับ 4 ปัจจัยคือ

  • ปริมาณรังสีที่ได้รับ
  • ระยะเวลาสัมผัส
  • ระยะห่างจากแหล่งกำเนิดรังสี
  • มีหรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกันรังสี

ซึ่งจะทำให้เกิดอาการผิดปกติแตกต่างกันตามไปด้วย โดยหากรับรังสีปริมาณมากแบบทั่วร่างกาย จะเกิดความผิดปกติ 3 กลุ่มอาการคือ ระบบผลิตเลือด ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทกลาง ส่วนกรณีได้รับรังสีบางส่วนร่างกายหรือปริมาณไม่สูง ทำให้เกิดอาการด้านผิวหนังจากรังสี

โดยอาการต้องสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับปริมาณรังสีเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จนไม่ส่งผลให้เกิดอันตรายที่เห็นผลชัดเจนในทันที แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้

ทั้งนี้ เมื่อสงสัยว่าสัมผัสวัตถุปนเปื้อนรังสี ต้องรีบลดการปนเปื้อน ซึ่งทำได้ทั้งแบบแห้ง เช่น การปัดออก เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือแบบเปียก โดยการล้างด้วยน้ำ

โดยหากผู้ใดมีอาการสงสัยจากการสัมผัสรังสี เช่น ผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย รวมทั้งการเข้าใกล้หรือสัมผัสวัตถุต้องสงสัย ให้รีบประสาน อสม. หรือพบแพทย์ที่สถานพยาบาล พร้อมทั้งแจ้งความเสี่ยงสัมผัสต่อเจ้าหน้าที่ โทร. สสจ.ปราจีนบุรี 0-3721-1626 ต่อ 102 หรือติดต่อสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ โทร. 0-2517-4333

ทั้งนี้ ผู้ใดที่พบเห็นวัตถุต้องสงสัย หรือวัสดุที่มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นนี้ โปรดหลีกเลี่ยงการสัมผัสและเข้าไปอยู่ใกล้ชิดและรีบแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ที่สายด่วนแจ้งเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร.1296