ซีเซียม-137 สารอันตรายหายจากปราจีนบุรี ใครบ้างสามารถครอบครองได้ ?  

ซีเซียม 1

เกาะติดสถานการณ์ “ซีเซียม-137″ สารอันตรายหายไปจากโรงไฟฟ้าในจังหวัดปราจีนบุรี ที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งและเสียชีวิต พร้อมเปิดเงื่อนไข ใครบ้างที่สามารถครอบครองได้

วันที่ 16 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีท่อเก็บสารกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” (Sesium-137) ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด หายไปจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำใน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และขณะนี้ยังค้นหาไม่พบ ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายคนไม่น้อย

เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกรงว่าหากคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไปผ่าเปิดออกอย่างไม่ถูกวิธี สารซีเซียม-137 จะปล่อยรังสีที่มองไม่เห็นออกมา ส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้สัมผัส อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ได้สัมผัสกับสารกัมมันตรังสีที่อาจรั่วไหลออกมา หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนานต่อเนื่อง

ซีเซียม-137 คืออะไร ?

สำหรับซีเซียม-137 คือสารไอโซโทปของซีเซียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีเลขอะตอมเท่ากับ 55 มีครึ่งชีวิต 30 ปี จาก 300 ปี สลายโดยปล่อยรังสีบีตาและรังสีแกมมา ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเคลียส และซีเซียม-137 ยังเป็นสารก่อมะเร็งได้อีกด้วย

ไทม์ไลน์การหายไปของ “ซีเซียม-137”

วันที่ 10 มีนาคม 2566 เวลา 18.30 น. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งเหตุกรณีวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย จากสถานประกอบการทางรังสีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

วันที่ 11 มีนาคม 2566 ปส.ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโดยละเอียดด้วยเครื่องมือวัดทางรังสีในพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับสถานประกอบการ แต่ไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้รับแจ้งว่าสูญหายไป

วันที่ 13 มีนาคม 2566 ปส.ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตรวจวัดทางรังสี เข้าตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง โดยตรวจสอบทุกพื้นที่ภายในสถานประกอบการ ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในสถานประกอบการ

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ปส.ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสีในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย และการสอบถามข้อมูลจากสถานประกอบการดังกล่าว ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่

วันที่ 15 มีนาคม ยังคงระดมเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบค้นหาและขยายพื้นที่ไปยังจังหวัดใกล้เคียง แต่ยังเชื่อว่ายังคงอยู่ในสภาพเดิม โดย ปส.ได้ขยายความร่วมมือไปยังร้านรับซื้อของเก่าและโรงงานอุตสาหกรรมผลิตโลหะในพื้นที่ภาคตะวันออกเพิ่มเติม เนื่องจากในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิได้ตรวจหาครบแล้ว รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่นำรถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ตรวจสอบไปตั้งในพื้นที่ร้านรับซื้อของเก่า

โดยจะใช้เครื่องมือ 3 ชนิดในการตรวจหา คือ

1.เครื่องวิเคราะห์ไอโซโทปรังสีแบบบอกทิศทาง ใช้เพื่อสำรวจปริมาณรังสีและวิเคราะห์ไอโซโทปรังสี รวมถึงบอกทิศทางของรังสีที่มากระทบกับเครื่องมือวัด

2.เครื่องสำรวจปริมาณรังสีใช้สำรวจปริมาณรังสีในพื้นที่เกิดเหตุ

3.อากาศยานไร้คนขับพร้อมเครื่องวิเคราะห์ไอโซโทปรังสี ใช้สำรวจปริมาณรังสีในพื้นที่ขนาดใหญ่พร้อมวิเคราะห์ไปโซโทปรังสีในพื้นที่เกิดเหตุ

ภาพการค้นหาซีเซียม-137
ภาพการค้นหาซีเซียม-137

ซีเซียม-137 ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ?

สำหรับซีเซียม-137 นับเป็นไอโซโทปรังสีที่นิยมนำมาใช้ทางด้านอุตสาหกรรมมากที่สุดตัวหนึ่ง มีเครื่องมือนับพันชนิดที่ใช้ซีเชียม-137 ยกตัวอย่าง ดังนี้

เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่มีใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

เครื่องวัดระดับ ใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อตรวจวัดการไหลของของเหลวในท่อและแท็งก์

เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และผลิตภัณฑ์อื่น

เครื่องหยั่งธรณี ในอุตสาหกรรมการขุดเจาะเพื่อช่วยบอกลักษณะเฉพาะของชั้นดินและหินต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังใช้ซีเซียม-137 ในทางการแพทย์โดยใช้บำบัดมะเร็ง ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมามาตรฐานสำหรับการปรับเทียบระบบการวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสีอีกด้วย

ผลกระทบกับสุขภาพเมื่อได้รับสารซีเซียม-137

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หากสัมผัสสารซีเซียม-137 ในช่วงเวลาสั้น ๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน แต่หากสัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น จะเริ่มมีผลต่อร่างกาย ทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย หากสัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา ซึ่งอาการจะขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ได้รับ

นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจนว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่

เงื่อนไขและใครบ้างที่สามารถครอบครองซีเซียม-137 ได้

เนื่องด้วย “สารซีเซียม-137” อยู่ใน “วัสดุกัมมันตรังสี” ซึ่งมีกฎระเบียบสำหรับผู้ครอบครองหรือใช้วัสดุกัมมันตรังสีไว้อยู่แล้ว ดังนั้น โดยหลักเกณฑ์ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถขอได้ทั้งนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา ตัวอย่าง ดังนี้

นิติบุคคลเอกชน เช่น บริษัท จำกัด (มหาชน), บริษัท จำกัด, ห้างหุ้นส่วน จำกัด และมูลนิธิ เป็นต้น

นิติบุคคลส่วนราชการ เช่น กระทรวง, ทบวง, กรม, ส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน เป็นต้น

บุคคลธรรมดา เช่น คลินิกสัตว์คลินิกทันตกรรม คลินิกรักษาโรคต่าง ๆ ที่มีบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องมีการขออนุญาตผลิต/ครอบครองหรือใช้/นำเข้า/ส่งออก/นำผ่าน กับกองอนุญาตทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โดยสามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ ยื่นด้วยตนเอง, ยื่นทางไปรษณีย์ และยื่นทางเว็บไซต์ จากนั้นจะมีคณะทำงานพิจารณากลั่นกรองการออกใบอนุญาต ภายใน 45 วัน (ศึกษาเพิ่มเติม https://www.oap.go.th/images/documents/offices/baea/proap/training/14-03-62.pdf)

ซีเซียม-137 ที่หายไปลักษณะแบบไหน ?

สำหรับซีเซียม-137 ที่หายไปเป็นตัววัดที่อยู่ติดกับท่อหลุดออกมา เนื่องจากเกิดสนิม ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชน หากพบเห็นแท่งเหล็กที่เป็นวัสดุทรงกลม น้ำหนัก 25 กก. ยาว 8 นิ้ว และกว้าง 5 นิ้ว ห้ามผ่าออกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้สารกัมมันตรังสีที่บรรจุอยู่ด้านในรั่วไหลได้ และเกิดผลกระทบโดยฉับพลันกับผู้สัมผัสหรืออยู่ใกล้ในรัศมี 1-2 เมตร หากผู้ใดพบเห็นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โทร.1784 หรือ 191 ซึ่งมีรางวัลแจ้งเบาะแสถึง 50,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสีระบุว่า ตราบใดที่วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 อยู่ในสภาพสมบูรณ์จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งที่ชิ้นที่หายไปหากไม่มีใครไปแกะหรือตัดมันก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรได้