รองผู้ว่าฯ กทม. ขออาสาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันกฎหมายควบคุมอาคาร

วิศณุ ทรัพย์สมพล

รองผู้ว่าฯ กทม. ขออาสาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ยกเครื่องกฎหมายควบคุมอาคาร ชี้ควรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 

วันที่ 17 มีนาคม 2566 นโยบายปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคารให้ทันสมัยเป็น 1 ใน 216+ นโยบายที่ประกาศตั้งช่วงหาเสียงเลือกตั้งของทีมชัชชาติ นับจากวันเข้ารับตำแหน่งของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 เป็นเวลา 9 เดือนเศษ ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายวิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ดูแลเรื่องนี้ ถึงแนวคิดและเป้าหมายของนโยบาย

ทำไมนโยบายเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

คงต้องเริ่มอธิบายโดยพื้นหลังของผมที่เคยดูแลสำนักงานทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน ดังนั้นในมุมมองหนึ่งของผมคือเรื่องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับพวกกฎหมายควบคุมอาคารทั้งหลาย ผมขอเรียกรวม ๆ อยู่แล้ว

โดยเฉพาะช่วงที่มีแนวคิดในการพัฒนาตึกแถวย่านบรรทัดทองของจุฬาฯ เราพบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร บอกว่าในการปรับปรุงอาคารจะต้องทำตามกฎหมายควบคุมอาคารฉบับใหม่ที่มีการกำหนดที่จอดรถ ระยะร่น ซึ่งตึกแถวย่านนั้นไม่สามารถทำได้

ตอนนั้นเราเป็นหน่วยงานของรัฐ เราจึงแค่ทำไม่ได้ แต่ถ้าสมมุติเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่จะมีการปรับปรุงอาคารเป็นโฮสเทล มันก็ต้องใช้วิธีฝ่าฝืนกฎหมายแล้วสมยอมในการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนหรือเราเรียกว่าส่วย เป็นต้น

ตรงนี้คือปัญหาที่ผมเจอกับตัวเอง และนอกจากนั้นก็จะมีปัญหาที่เราพูดคุยกันในเวทีเสวนาต่าง ๆ ตอนผมอยู่ที่จุฬาฯเราก็ได้แค่ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีการแก้ไขเหล่านี้เลย แต่ในวันนี้ผมได้รับโอกาสมาอยู่ในตำแหน่งที่มีศักยภาพในการทำงานเหล่านี้ได้แล้ว ผมจึงขอใช้ตำแหน่งนี้เพื่อเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” พวกกฎหมายเหล่านี้ และอีกส่วนหนึ่งคือการปรับปรุงกฎหมายเพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนด้วย

มาเริ่มกันที่ส่วนแรกคือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาคารเหล่านี้

ในเรื่องกฎหมายที่มีเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอาคาร ตอนนี้ผมได้มีการพูดคุยกับที่ปรึกษาเพื่อมาทำโครงการนี้แล้ว โดยแบ่งขั้นตอนเป็น 3 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรกเราจะต้องสำรวจปัญหาให้ครบถ้วนก่อน โดยการสำรวจปัญหาเหล่านี้จะมาจาก ส่วนแรกคือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกกรุงเทพมหานคร เช่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง Developer และอื่น ๆ ว่าในการพัฒนาโครงการติดปัญหาส่วนไหนบ้างอย่างไร

ส่วนที่สองจะเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรุงเทพมหานครเอง คือ บรรดาตำแหน่งต่าง ๆ ที่มีส่วนในการอนุมัติใช้ใบอนุญาตก่อสร้าง หรือที่เกี่ยวข้องว่าจากการทำงานพบเห็นปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยคุยกับบุคลากรจากสำนักโยธาถึงเรื่องนี้ เขาชี้ให้เห็นปัญหาได้ แต่ประเด็นคือเขาไม่สามารถแก้กฎหมายเองได้

ส่วนที่สามจะมาจากพวกกรณีพิพาทต่าง ๆ ว่าเรามีกรณีพิพาทในอดีตอย่างไรบ้าง และข้อพิพาทต่าง ๆ ต้องนำข้อพิพาทที่ยุติแล้วมาถอดบทเรียนควบคู่ไปด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร และข้อพิพาทเหล่านั้นมันมาจากปัญหาอะไรกันแน่

เมื่อขั้นตอนการหาปัญหาแล้วเสร็จก็ต้องมีการมาจำแนกแต่ละปัญหาอย่างเป็นระบบ ว่าอันไหนเป็นปัญหาในทางกฎหมาย กฎหมายระดับใด ฉบับใด ปัญหาใดเป็นปัญหาในเชิงดุลพินิจ หากเป็นปัญหาเชิงดุลพินิจแก้ได้ง่าย ๆ เลยคือ เราก็ออกคำสั่งให้เป็นเช็กลิสต์กำกับการใช้ดุลพินิจ

ปัญหาจากกฎหมายล่ะ

ปัญหาในเชิงกฎหมายตรงนี้เราจะต้องเข้าใจก่อนว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในระดับ พ.ร.บ.จะมีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน คือ พ.ร.บ.ผังเมือง และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และในระดับรองลงมาก็มีทั้งกฎกระทรวงและข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร

ส่วนของระดับพระราชบัญญัติปัญหาที่พบค่อนข้างน้อย อันนี้ส่วนตัวผมนะครับ เพราะมันเป็นการควบคุมในเชิงหลักการ แต่ในระดับกฎกระทรวงทั้งหลายเราจะพบปัญหาเยอะมาก เนื่องจากมันเป็นการออกข้อบังคับอย่างเดียวกันใช้ทั่วประเทศ

ตัวอย่างที่ผมยกข้างต้นคือเรื่องระยะร่นกับที่จอดรถ คือไม่ว่าคุณจะสร้างที่กรุงเทพมหานคร หรือที่ต่างจังหวัด ราคาที่ดินตารางวาละ 1 ล้านบาท หรือ 1 ร้อยบาท ระยะร่นเท่ากัน ที่จอดรถเท่ากัน ซึ่งมันไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่ ซึ่งตามความเห็นของผมมันจะต้องมีการออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่แทน

พอเราจำแนกปัญหาจากกฎหมายแล้ว เราก็จะมาแก้ไขถ้าส่วนไหนที่สามารถแก้ไขได้ คือพวกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต่าง ๆ หากส่วนไหนแก้ไขไม่ได้ ผมจะไปเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ไปขอแก้ไขที่กระทรวงมหาดไทยให้

การปรับปรุงกฎหมายเพื่อเมืองน่าอยู่

กฎหมายควบคุมอาคารผมขอเรียกรวม ๆ แบบนี้นะ เกี่ยวอะไรกับเมืองน่าอยู่ ผมยกตัวอย่างแบบนี้ กรณีแรก สะพานลอย หม้อแปลงไฟฟ้า บันไดเลื่อนจากสถานีรถไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ไม่มีใครอยากให้อยู่หน้าบ้านตัวเอง ยิ่งตึกแถวเล็ก ๆ ยิ่งแล้วใหญ่ เช่น บริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ที่หาที่เอาสะพานลอยลงไม่ได้เลย ถ้าไม่บังคับแล้วจ่ายค่าทดแทนอะไรตามระเบียบไป ถ้าค่าทดแทนไม่พอต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันอีก

หากพวกนี้ไปอยู่ในที่ของเอกชน สาธารณะได้ข้อดีแน่ ๆ คือ เราได้รับประโยชน์จากการใช้สอย และพอมันไม่อยู่บนทางเท้าเราก็เดินสะดวกสบายขึ้น แต่เอกชนก็ต้องมีแรงจูงใจที่จะให้สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ ผมมีคุยนอกรอบกับหลายเจ้า เขาบอกว่าเอามาลงได้ แต่ให้คำนวณเป็นพื้นที่สีเขียวซับน้ำให้เขา เขาพร้อมให้ลงในพื้นที่เขา อะไรแบบนี้ก็ต้องมีการศึกษากันไป

อีกกรณีหนึ่งต่อเนื่องจากพื้นที่สีเขียวซับน้ำ พูดแบบนี้จะเข้าใจยาก มันคือพื้นที่ที่เอกชนทำเป็นสวนหย่อมทั้งหลาย เพราะว่ากฎหมายกำหนดให้มีพื้นที่ว่างที่เป็นพื้นดินไม่มีคอนกรีตคลุมเป็นอัตราส่วนไว้ ซึ่งไม่เยอะเท่าไหร่หรอก เราจึงเห็นสวนเป็นเส้น ๆ อะไรพวกนี้

ถ้าหากเราสร้างแรงจูงใจมากพอให้เอกชนเอาพื้นที่สีเขียวซับน้ำพวกนี้มารวมกันเป็นที่เดียว เช่น มีคอนโดฯ 2 โครงการติดกัน มีพื้นที่สีเขียวซับน้ำคนละ 10 ตารางวา ถ้าเอามารวมกันเป็น 20 ตารางวา ถ้า 4 แปลงเราจะมี 40 ตารางวา เราก็จะได้สวนสาธารณะเล็ก ๆ (Pocket Park) แต่เราต้องมีแรงจูงใจให้มากพอให้เอกชน

เราจะเห็นรูปร่างของการยกเครื่องกฎหมายควบคุมอาคารเมื่อไหร่

ตอนนี้กรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นช่วงปลายปีนี้ ดังนั้นผมอยากให้ปลายปีนี้เป็นการยกเครื่องกฎหมายควบคุมอาคารทั้งหมด ทั้งผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติควบคุมอาคาร กฎกระทรวงควบคุมอาคาร ดังนั้นคาดว่าปลายปีนี้เราจะได้เห็นเค้าโครงรูปร่างของกฎหมายควบคุมอาคารฉบับใหม่