ชัชชาติ เผยสายสีเขียวต่อขยาย ยังนั่งฟรีไม่มีกำหนด

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ภาพจาก pixabay

ชัชชาติเผย สายสีเขียวต่อขยายยังนั่งฟรีไม่มีกำหนด รอเคลียร์ค่าจ้างเดินรถบีทีเอส

วันที่ 15 มีนาคม 2566 มติชนรายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายว่า กทม.ยังคงพร้อมที่จะร่วมพูดคุยกับทางบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กรณีที่พนักงานของบีทีเอสเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาลให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ

โดยกำหนดระยะเวลา 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะหยุดการเดินรถส่วนต่อขยาย โดย กทม.มองว่าหากเกิดเหตุการณ์หยุดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายขึ้นจะกระทบต่อประชาชน ซึ่งทาง กทม.และบีทีเอส คงไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนขึ้นในการเดินทาง

“ปัจจุบันการเดินรถส่วนต่อขยายจะเป็นส่วนที่บีทีเอสรับจ้างเดินรถให้ กทม. มีสัมปทานล่วงหน้ายาวไปถึงปี 2585 โดยส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วงยังคงให้บริการกับประชาชนฟรี หากยังไม่มีข้อยุติเรื่องสัญญาและสภา กทม.ยังไม่อนุมัติคงต้องเปิดบริการฟรีอย่างไม่มีกำหนด” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ซึ่งส่วนต่อขยายดังกล่าวมีผู้ใช้บริการหลายแสนคน เพื่อป้อนเข้าสู่ส่วนสัมปทานที่เป็นเส้นทางไข่แดงแบบฟรี ๆ ให้บีทีเอส ทำให้บีทีเอสมีรายได้และได้ค่าแรกเข้าทันที ถือเป็นผลประโยชน์ที่ทำให้บีทีเอสมีรายได้จุนเจือบ้าง แม้ยังไม่ได้ค่าจ้างซึ่งค่าเดินรถที่ กทม.ยังไม่จ่าย เพราะเป็นเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงยังมีเงื่อนไขทางกฎหมายที่ยังต้องดูอยู่ คือ

เรื่องที่เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อน เพราะการต่อสัมปทานโครงการดำเนินการตาม ม.44 ซึ่งเอกชนจะรับผิดชอบค่าเดินรถจนกว่าจะหมดสัมปทาน จะมีเรื่องค่าโดยสารรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันเรื่องยังค้างอยู่ที่ ครม.ตั้งแต่ปี 2562

“ซึ่ง ม.44 เท่ากับ พ.ร.บ. เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่ง ม.44 ชัดเจนว่าให้ทำอะไร ถ้าเราไม่ทำตามถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน ถ้าไม่ไหวคงต้องมานั่งคุยกันอีกที” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวว่า สำหรับข้อพิพาทค่าจ้างเดินรถ การจ่ายหนี้ยังคงต้องดูตามข้อสัญญาที่ค้างอยู่กับ กทม. และต้องมีการหารือร่วมกัน รวมถึงบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เป็นคู่สัญญากับบีทีเอส จะต้องหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งยังคงเป็นข้อกังวลที่ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้

“ส่วนตัวไม่อยากให้เรื่องยืดเยื้อ ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอยู่แล้ว แต่ กทม.ก็ต้องทำตามระเบียบ ทำให้ถูกขั้นตอน ทุกอย่างต้องรอบคอบ เพราะปัญหามันเกิดแล้ว เราก็พร้อมพูดคุยกับบีทีเอสเพื่อร่วมกันหาทางออก และเชื่อว่าบีทีเอสคงไม่ทำสิ่งที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือเอาประชาชนมาต่อรอง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติยังตอบคำถามนโยบายที่เคยหาเสียงในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในเรื่องเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้านั้นว่า ในสายที่เป็นไข่แดงถือว่าอัตราค่าโดยสารในปัจจุบันเฉลี่ยในช่วงราคา 35-40 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสม และไม่มีปัญหาอะไรในส่วนนี้

แต่ในส่วนต่อขยายที่ กทม.ว่าจ้างบีทีเอสที่ยาวไปอีก 13 ปี ที่ทำสัญญาไปแล้ว พบว่ามีอัตราค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ยังสูงเป็นแสนล้าน ทำให้ กทม.จะต้องเก็บค่าโดยสารที่สอดคล้องกับต้นทุนค่าจ้างที่สูงตาม ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาแนวทางในการต่อรองกับบีทีเอสลดค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอสในส่วนต่อขยาย

เพื่อทำให้การจัดเก็บค่าโดยสารถูกลง และบีทีเอสยังได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในการรับจ้างเดินรถ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาดูแลและพิจารณาในเรื่องของประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและแก้ไข

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนที่พรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และ 40 บาทตลอดสายนั้น ต้องเข้าใจว่าปัญหาต่าง ๆ ในเรื่องของรถไฟฟ้าที่เป็นประเด็นยืดเยื้อมานาน เพราะมีหลายเจ้าของ ซึ่งสายสีน้ำเงิน สีม่วง สีเหลือง สีชมพู เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แอร์พอร์ตลิงค์เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่วนสายสีเขียวเป็นของ กทม.

ซึ่ง กทม.อยากให้ทางรัฐบาลนำรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ กลับไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีความเชี่ยวชาญเพียงหน่วยงานเดียวกำกับดูแลเอง เพราะจะทำให้การบริหารจัดการโครงข่ายรถไฟฟ้าง่ายขึ้น รวมถึงสามารถควบคุมและกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม ถูกลง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“สายสีเขียว หากถามเราก็ไม่ได้อยากเป็นเจ้าของ เพราะเราไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหาร ถ้าเปิดโอกาสให้คืนรัฐบาลได้เราก็ยินดีที่จะคืน และหาแนวทางร่วมกันในการบริหารจัดการ จะทำให้ กทม.ได้รับผลตอบแทนร่วมกันด้วย” นายชัชชาติกล่าว