คีรี BTS แถลง กรณี ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

คีรี กาญจนพาสน์
คีรี กาญจนพาสน์

คีรี กาญจนพาสน์ และคณะผู้บริหาร BTSC แถลงชี้แจงกรณี ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหากรณีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585

วันที่ 14 มีนาคม 2566 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้จัดแถลงข่าวชี้แจงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแจ้งข้อกล่าวหา โดยมีนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) แถลงชี้แจงกรณี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายคีรีกล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลถือเป็นการกลั่นแกล้ง ตนยอมไม่ได้ อะไรที่ไม่ถูกต้อง ตนจะสู้ เพราะประวัติการทำงานไม่มีมลทิน เป็นที่น่าสังเกตว่าการจ้างบีทีเอส เดินรถส่วนต่อขยายผ่าน 4 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง ทำไมไม่มีปัญหา อีกทั้งการทำสัญญายังมีการทำตั้งแต่ปี 2555 แต่เพิ่งจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาในปี 2566 ซึ่งเป็นเวลากว่า 11 ปี

“เชื่อว่าเป็นการช่วย กทม. ในการเดินรถ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครมาเดินรถแม้แต่รายเดียว ซึ่งส่วนต่อขยายฝั่งธน 2 กม. สร้างเสร็จแล้วมา 8 ปี แต่กลับไม่มีการเดินรถ ทั้งนี้ยืนยันว่าการรับจ้างให้กับ กทม. ที่ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปเอง กลับกลายเป็นปัญหามาก ตั้งแต่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ มารับตำแหน่ง และไม่ยอมจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้านบาท แม้ศาลปกครองกลางตัดสินให้ กทม. และเคที จ่ายเงินหนี้ดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงบริษัทที่ควักเงินจ่าย เพื่อให้บริการประชาชน ส่วนที่มีสิทธิอุทธรณ์ก็อุทธรณ์ไป แต่ส่วนที่ไม่มีปัญหา ก็ต้องจ่าย”

นายคีรีกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มมาจากที่บริษัทได้เข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมีการเปลี่ยนร่างทีโออาร์ และรมว.คมนาคม แย้งมาตลอด แต่สิ่งที่ต้องการวันนี้คือต้องการเงิน 5 หมื่นล้านบาทคืนมา ใครจะทำให้บีทีเอสอ่อนแอ เจอผิดคนแล้ว ยืนยันว่าจะไม่หยุดเดินรถแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้นำประเทศ บีทีเอสยังไหวอยู่ แม้พนักงานจะไปเรียกร้องก็ตาม

แต่บริษัทจะทำเพื่อประชาชน รถไฟฟ้าสายสีส้มบริษัทไม่มีคำว่าชนะ เป็นหน้าที่ของประชาชน ที่จะเข้ามาร่วมตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ในกระบวนศาลปกครอง บริษัทยังคงเดินหน้าต่อสู้

สำหรับข้อกล่าวหาในวันนี้ เป็นความลับที่ว่าฮั้วประมูลสายสีเขียวนั้น ทำให้ผู้ลงทุนตกใจหุ้นตกทันที ยืนยันว่าเราไม่มีพฤติกรรมฮั้วประมูล เพราะทำตามขั้นตอน โดย กทม.ทำแบบมืออาชีพ บริษัทก็มีฝ่ายกฎหมายดูแลถ้าไม่ถูกต้องจะไม่ลงนามในสัญญาแน่นอน จึงไม่จำเป็นต้องฮั้วประมูล

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า บริษัทเป็นมหาชนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับรางวัลและความสำเร็จด้านความยั่งยืนระดับโลก โดยรางวัลดังกล่าวไม่ได้มองเพียงแค่ผลประกอบการของบริษัท แต่ยังมองไปถึงหลักธรรมาภิบาล และความโปร่งใสขององค์กรด้วย จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด ป.ป.ช. จึงปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานาน ทั้งที่เรื่องการสอบสวนไม่ได้มีความซับซ้อน หลายข้อหาหมดอายุความไปแล้ว

และการที่ใครบางคนนำเอกสารสำนวนการสอบสวนออกมาเผยแพร่ ถือว่ามีเป้าหมาย เพราะเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารลับ จึงมีความไม่ชอบมาพากล ส่งผลให้หุ้นของ บริษัทฯ ตกลงทันที จึงขอถามกลับไปยัง ป.ป.ช.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ว่าเอกสารดังกล่าว เผยแพร่ได้อย่างไร เพราะผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 ราย ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบ

ขณะเดียวกันตั้งข้อสังเกตการโอนอำนาจจากคณะอนุกรรมการไต่สวน ไปเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เอกสารดังกล่าว ต้องรับผิดชอบ เพราะเอกสารเผยแพร่ได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่เป็นเอกสารลับ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 ราย ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำผิด

ทั้งนี้เอกสารจาก ป.ป.ช. ที่ส่งให้ผู้ถูกกล่าวหา กลับไม่มีรายละเอียด ดังนั้นบริษัทจะทำหนังสือถึง ป.ป.ช. เพื่อขอทราบรายละเอียดในเรื่องของการกระทำความผิดและพยานหลักฐาน เพื่อต่อสู้ตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสัญญาจ้างเดินรถหรือไม่ นายคีรีกล่าวว่า ยืนยันว่าบริษัทไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และยังคงเดินหน้าเดินรถเพื่อให้บริการผู้โดยสาร เพราะผู้โดยสารเป็นผู้มีพระคุณต่อบริษัท คงไม่มีบริษัทใดในโลกที่ยอมให้ติดหนี้ 5 หมื่นล้านบาท โดยไม่ทำอะไรเลย แต่บริษัทคำนึงถึงผลกระทบของประชาชนทั่วไปและผู้โดยสาร จึงไม่หยุดเดินรถ

ด้านความพร้อมทางการเงินในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทาง BTS ได้ออกหุ้นกู้มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างกว้างขวาง และจะมีรายได้จากสนามบินอู่ตะเภา รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ 2 สาย) สาย 6 บางปะอิน-โคราช และสาย 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี และทาง BTS ยังยืนยันที่จะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการระบบขนส่งมวลชนซึ่งเป็นธุรกิจหลักต่อไป

เมื่อถูกถามว่าวันนี้ทางกลุ่มบริษัท BTS ยังคงรอคอยการต่อสัญญาสัมปทาน 30 ปี (2572-2602) หรือไม่

คีรี กาญจนพาสน์
คีรี กาญจนพาสน์

นายคีรี ระบุว่า กรณีนี้ขอยืนยันว่าทาง BTS ไม่ได้เป็นผู้เสนอให้มีการต่อสัมปทานแลกกับหนี้สินซึ่งมีมูลค่ารวมนับแสนล้านบาท แต่ทางบริษัทได้รับข้อเสนอจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่งมาตรา 44 (คำสั่ง คสช. ที่ 3/2562) BTS เพียงเป็นผู้ไปเจรจาตามร่างสัญญาที่ได้ร่างไว้แล้วโดยคณะกรรมการในวันนั้นเชื่อว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาแต่เมื่อไม่สามารถเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จนถึงวันนี้ทาง BTS ขอทวงหนี้จาก กทม. 50,000 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟ้าเมื่อหมดสัญญาบริษัทรถไฟฟ้ามาประมูลแข่งขันกัน

ด้าน นายสุรพงษ์ กล่าวเสริมว่าสำหรับหนี้ระหว่างกรุงเทพมหานครกับทาง BTS นั้นแบ่งออกเป็นค่าจ้างเดินรถทั้ง 2 สัญญาประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณอีกประมาณ 2.28 หมื่นล้านรวมประมาณ 5 หมื่นล้าน ซึ่งรวมดอกเบี้ยแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามนายสุรพงษ์ถึงเหตุผลที่กรุงเทพมหานครเลือกที่จะจ้างเดินรถ 30 ปีแทนที่จะจ้างเดินรถถึงปี 2572 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น นายสุรพงษ์ ตอบว่า ในขณะนั้นกรุงเทพมหานครได้มีการส่งหนังสือเชิญให้ทางบริษัทส่งข้อเสนอการรับจ้างเดินรถซึ่งก็ได้ส่งไปหลาย ๆ โมเดล โดยส่วนหนึ่งในค่าจ้างเดินรถจะมีค่าจัดหาขบวนรถรวมอยู่ ซึ่งหากจ้างเดินรถระยะสั้นจะทำให้มีราคาต่อปีสูง

“ซึ่งทางกรุงเทพมหานครในขณะนั้นได้เลือกการเดินรถ 30 ปี และในฐานะผู้ดำเนินการระบบขนส่งมวลชนชอเรียนว่าหากคิดในมุมมองบริษัทกรุงเทพมหานครมีการปรับค่าโดยสารที่คงที่ 15 บาทตั้งแต่เริ่มเดินรถตามอัตราเงินเฟ้อ ค่าโดยสารน่าจะใกล้เคียงกับค่าจ้างเดินรถยิ่งขึ้น”