ย้อนปม รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อน ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหาทุจริต 13 ราย

ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา BTSC อดีตผู้ว่า กทม.

ย้อนปม 3 ส่วน 3 สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว เรียงไทม์ไลน์ก่อน ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา สุขุมพันธุ์-คีรี-BTSC ชัชชาติชี้เทียบเคียงผลการชี้มูลสัญญาปี 2555 กับสัญญาส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้เวลา 13.00 น. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้มีการจัดแถลงข่าว “กรณี ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)” โดยแจ้งว่านายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นผู้แถลงข่าว

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงพาย้อนปมทั้งความเป็นมาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวและความเป็นมาก่อนที่ ป.ป.ช. ได้แจ้งข้อกล่าวหา รถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย และเป็นรถไฟฟ้าสายเดียวที่อยู่ในการกำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร การทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของรถไฟฟ้าสายนี้ ต้องเข้าใจ 3 ส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ 1 ส่วนสัมปทาน

โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเริ่มต้นเมื่อปี 2535 ในสมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มีชื่อว่า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ได้เปิดประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย ใน 2 เส้นทาง คือ

1.ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช

2.ช่วงสนามกีฬา-สะพานตากสิน

ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้รับสัมปทาน

โดยผู้รับสัมปทานต้องลงทุนในการก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และจัดหาขบวนรถทั้งหมดแลกกับค่าโดยสารและผลประโยชน์อื่น ๆ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยสัญญาสัมปทานนี้มีระยะเวลา 30 ปีนับแต่วันเดินรถ โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้จัดการเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 และส่วนสัมปทานนี้จะหมดสัญญาในวันที่ 4 ธันวาคม 2572

ส่วนที่ 2 ส่วนต่อขยายส่วนที่ 1

ต่อมาในสมัยผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เมื่อปี 2548 กรุงเทพมหานครได้อนุมัติงบประมาณเพื่อก่อสร้างงานโยธาของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งได้มีการต่อขยายไปใน 2 ช่วง คือช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง

ก่อนที่ในปี 2555 ในสมัยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีการบรรจุโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือโครงการจ้างเดินรถ 30 ปี ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2555

กรุงเทพมหานคร นำโดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม หรือ KT บริษัทซึ่งกรุงเทพมหานครถือหุ้นอยู่ทั้งสิ้น 99.8% ตามโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ทาง KT ได้ดำเนินการลงนามในสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงกับ BTSC

โครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงนี้มีระยะเวลา 30 ปี คือระหว่างปี 2555-2585 โดยแบ่งการให้บริการออกเป็น 2 ช่วงของสัญญา คือ

  • ช่วงที่ 1 ปี 2555-2572 จะดำเนินการเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร
  • ช่วงที่ 2 ปี 2572-2585 ดำเนินการเดินรถใน 2 ส่วน คือส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร และส่วนสัมปทานคือช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานคร รวม 190,054,800,000 บาท

ส่วนต่อขยายส่วนที่ 2

การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เริ่มต้นจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ได้อนุมัติให้การรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทยดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังว่าใครจะเป็นผู้บริหารจัดการการเดินรถในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 นี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ที่ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ กทม. เป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่–คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร

ด้วยมติดังกล่าวกรุงเทพมหานครจึงเป็นผู้ได้สิทธิในการกำกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ คือ ส่วนสัมปทาน ส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ระยะทางกว่า 68 กิโลเมตร

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 กรุงเทพมหานครในสมัยผู้ว่าฯสุขุมพันธุ์ สมัยที่ 2 จึงได้มอบหมายงานให้ KT จัดการเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ทางกรุงเทพธนาคมจึงได้มีการทำสัญญา 2 ฉบับกับ BTSC

  • ฉบับที่ 1 สัญญาติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและงานระบบ (E&M) มูลค่า 19,358 ล้านบาท ในวันที่ 28 มิถุนายน 2559
  • ฉบับที่ 2 สัญญาบริหารการเดินรถจนถึงปี 2585 (O&M) มูลค่าสัญญา 161,097.64 ล้านบาท ในวันที่ 1 สิงหาคม 2559

ย้อนปมคดี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา

ก่อนการรายงานว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเดินรถ 30 ปี เมื่อปี 2555

ในวันที่ 2 มกราคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้ประกาศว่าจะดําเนินการสอบสวนผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารของกรุงเทพธนาคม BTSC และผู้บริหารของ BTSC ซึ่งรวมถึงหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้น นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTSC

โดยกล่าวหาว่าการเข้าทําสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบํารุงระยะยาวไม่ชอบด้วยกฎหมาย \หากภายหลังการสอบสวนแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ข้อสรุปว่ามีการกระทําความผิด กรมสอบสวนคดีพิเศษจะส่งผลการสอบสวนให้อัยการพิจารณา ซึ่งหากอัยการพิจารณาแล้วมีความเห็นสอดคล้องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทางอัยการมีอํานาจที่จะดําเนินการฟ้องต่อศาลที่เกี่ยวข้อง

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้นําสํานวนการสอบสวนและพยานหลักฐาน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องคดี หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 9 คน และอีก 1 นิติบุคคล คดีการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ออกไปอีก 13 ปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาส่งมอบให้อธิบดีอัยการสํานักงานคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่ง และกรมสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องบุคคล 2 ราย และนิติบุคคล 2 ราย ประกอบด้วย นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้มีอํานาจของบีทีเอสซี และบีทีเอสซี

ในเดือนกันยายน 2556 อัยการสำนักงานคดีพิเศษได้พิจารณาสำนวนคดีแล้ว มีความเห็นส่งสำนวนคืนให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งสำนวนต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวนต่อตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่อไปแล้ว

มีนาคม 2566 ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาทุจริตผู้เกี่ยวข้อง 13 ราย

และล่าสุดในวันที่ 11 มีนาคม 2566 มติชนได้รายงานข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์คณะไต่สวน ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 มีมติอนุมัติให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 13 ราย ประกอบไปด้วย

1. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

2. นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ตำแหน่งรองผู้ว่ารายการกรุงเทพหานคร

3. นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

4. นายอมร กิจเชวงกุล ตำแหน่งกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

5. นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร

6. นางนินนาท ชลิตานนท์ ตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร

7. นายจุมพล สำเภาพล ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง

8. นายธนา วิชัยสาร ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง

9. นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองการขนส่ง

10. นายคีรี กาญจนพาสน์ ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

11. นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ตำแหน่งกรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

12. บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้รับจ้างในโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาเลขที่ 1/2555 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2555 และผู้บริหารระบบในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส. 006/2555 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

13. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เลขที่ กร.ส…6/2555 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 13 ราย มีข้อกล่าวหาว่า กระทำทุจริตในการทำสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ว่าจ้าง ในฐานะวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (ในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือบีทีเอส) ผู้รับจ้าง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ในวงเงินกว่า 190,000 ล้านบาท เพื่อเป็นการจ้างเดินรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ประกอบด้วย

1.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง)

2. สายสีลม (สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่)

3.ว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี โดยให้สัญญาว่าจ้าง BTSC เดินรถทั้ง 3 เส้นทางดังกล่าว ไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585

ลักษณะร่วม 2 สัญญาจ้างเดินรถ

ลักษณะร่วมกันระหว่างทั้งสัญญาจ้างเดินรถ 30 ปี เมื่อปี 2555 และสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 ในปี 2559 มีลักษณะร่วมกัน คือกรุงเทพมหานครไม่ได้ลงนามกับเอกชนโดยตรง แต่ผ่านบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT บริษัทที่กรุงเทพมหานครถือหุ้นใหญ่

ด้วยเหตุนี้เอง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน จึงเปิดเผยว่า หากมีการชี้มูลความผิดในสัญญาจ้างเดินรถ 30 ปีที่ทำขึ้นในปี 2555 ย่อมส่งผลกระทบต่อสัญญาจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 เนื่องจากวิธีการในการทำสัญญามีความคล้ายคลึงกัน

และได้มอบนโยบายในฐานะผู้ถือหุ้นไปยังผู้บริหารของ KT ว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยความรอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการชำระค่าจ้างเดินรถและการเจรจาระหว่าง KT กับเอกชนผู้เดินรถ