มหิดลเตือน อย่าซื้อ “พรัสเซียนบลู” กินรักษาพิษ ซีเซียม-137 เอง

Prussian Blue ยา พรัสเซียนบลู

ศูนย์พิษวิทยา และภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เตือน พรัสเซียนบลู ใช้ได้เฉพาะกรณีปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกายเท่านั้น และต้องอยู่ใต้การดูแลของแพทย์

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ศูนย์พิษวิทยา และภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า พรัสเซียนบลู (Prussian blue) ซึ่งใช้ในการรักษาภาวะพิษจากซีเซียมนั้น มีข้อบ่งชี้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีการปนเปื้อนซีเซียมภายในร่างกาย (Internal contamination) เท่านั้น ไม่ใช้รักษาหากได้รับทางผิวหนังหรือปนปื้อนตามเสื้อผ้า

โดยกลไกการออกฤทธิ์หลัก คือ Prussian blue จะจับกับซีเซียมในลำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังลดการดูดกลับของซีเซียมจากที่มีผลยับยั้งขบวนการดูดกลับจากทางเดินอาหารไปยังตับและขับออกมาทางน้ำดีกลับสู่ทางเดินอาหารอีกครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา (enterohepatic recirculation)

อย่างไรก็ตาม Prussian blue มีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ แม้จะได้รับยาในขนาดที่ใช้ในการรักษา เช่น ท้องผูก หรือ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจทำให้สีอุจจาระ เยื่อบุ หรือฟัน เปลี่ยนสีได้

ดังนั้น จึงไม่ควรซื้อมารับประทานเองเนื่องจากสารเคมีที่ซื้ออาจไม่ได้ถูกผลิตเป็นยา และอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์

พร้อมกันนี้ยังย้ำความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยจากรังสีของซีเซียมในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ปัจจุบันพื้นที่เกิดเหตุมีค่าความแรงรังสี (activity) อยู่ที่ 41.4 mCi ซึ่งเมื่อเทียบกับความแรงรังสีเริ่มต้นวัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 อยู่ที่ 80 mCi หรือถ้าคิดเป็นน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.000505 กรัม (505 ไมโครกรัม) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

โดยปริมาณรังสีจากซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 27 kg หรือ 2.35×109 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุ 56.76 ล้านเท่า

ส่วนปริมาณรังสีจากซีเซียมในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา (Fukushima Daiichi) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554 คาดว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมสู่สิ่งแวดล้อม 17 PBq = 4.60×108 mCi เท่ากับปริมาณรังสีมากกว่ากรณีที่เกิดเหตุนี้ 11 ล้านเท่า (โดยประมาณ 24% จากเหตุการณ์นี้ถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดดยตรง)

ขณะเดียวกันแม้ซีเซียมจุดเดือดต่ำเมื่อเทียบกับเหล็ก คือจุดเดือด 671 องศาเซลเซียส จึงทำให้ถ้าเกิดการหลอม ซีเซียมจะระเหยเป็นไอและเป็นฝุ่นในห้องหลอม การล้างห้องหลอมหรือควันที่เกิดจากการหลอมมีโอกาสปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

แต่จากข้อมูลตามการแถลงข่าวของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ การหลอมเป็นระบบปิดและมีตัวกรองของเตาหลอม ถ้ามีการจัดเก็บฝุ่นในระบบปิดตามที่แถลง โอกาสที่จะมีรังสีซีเซียมปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมจึงน้อย

ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณหรือช่วงเวลาที่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามจากรายงานค่าปริมาณรังสีในอากาศและตัวอย่างดินรอบ ๆ บริเวณพบว่ายังมีค่าใกล้เคียงกับปริมาณรังสีพื้นหลังเท่านั้น