รู้จักซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง

กรณีซีเซียม-137 ที่หายไปจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ จ.ปราจีนบุรี โดยหลายหน่วยงานเร่งค้นหา พบล่าสุดถูกโรงงานหลอมเหล็กหลอมไปแล้ว มารู้จักซีเซียม-137 คืออะไร มาจากไหน มีผลกระทบต่อร่างกายหรือไม่

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ที่บริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ได้แจ้งว่ามีการหายไปจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำใน ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่ผ่านมา ขณะนี้จากการรายงานพบว่าสารดังกล่าวได้หลุดเข้าไปโรงงานหลอมเหล็ก ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยมีการยืนยันว่าซีเซียม-137 น่าจะมีการถูกหลอมไปแล้ว เนื่องจากมีการตรวจพบสารดังกล่าวในฝุ่นแดง

รู้จักซีเซียม-137 คืออะไร ?

ข้อมูลจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ซีเซียม-137 (Caesium หรือ Caesium) เป็นธาตุหมายเลขที่ 55 มีสัญลักษณ์ทางเคมี Cs พบในธรรมชาติ มีลักษณะเป็นโลหะซึ่งมีทั้งแบบเสถียรและไม่เสถียร ซีเซียมเป็นคำที่มาจากภาษาละติน “Caesius” ซึ่งหมายถึงสีน้ำเงิน (ท้องฟ้า) ซีเซียมที่อยู่ในรูปแบบของสารกัมมันตรังสี ที่รู้จักกันมากสุด คือ ซีเซียม-137 (Caesium-137) รองลงมา ซีเซียม-134 (Caesium-134)

โดยซีเซียม-137 มีความสำคัญมากกว่าซีเซียม-134 ในด้านการใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความแรงรังสีสูง นอกจากนี้ ซีเซียม-137 ยังพบอยู่ในฝุ่นกัมมันตรังสี เป็นสารเปรอะเปื้อนตัวหนึ่งในสิ่งแวดล้อม

ซีเซียม-137 มาจากไหน ?

ซีเซียมที่ไม่เป็นสารกัมมันตรังสีมีปรากฏอยู่เพียงไอโซโทปเดียว คือ ซีเซียม-133 ตามธรรมชาติ พบรวมอยู่เพียงปริมาณเล็กน้อยในแร่ชนิดต่าง ๆ น้ำทะเล ห้วย ลำธาร และในร่างกายมนุษย์ ส่วนซีเซียม-137 ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีเกิดได้ เมื่อยูเรเนียมและพลูโทเนียม ดูดกลืนอนุภาคนิวตรอนแล้วเกิดปฏิกิริยาฟิชชั่น ซึ่งพบได้ในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์ การแบ่งแยกนิวเคลียร์ของยูเรเนียมและพลูโทเนียมในปฏิกิริยาฟิชชั่นก่อให้เกิดผลผลิตจากฟิชชั่น (Fission Product) มากมาย ซีเซียม-137 เป็นหนึ่งในผลผลิตจากฟิชชั่นเหล่านั้น

ใครเป็นผู้ค้นพบซีเซียมและซีเซียม-137 ?

ในปี พ.ศ. 2403 กุสตาฟ เคอร์ชอฟฟ์ และโรเบิร์ต บุนเซน ค้นพบซีเซียมจากธรรมชาติ ในตัวอย่าง น้ำแร่ที่ได้จากเดอร์คไฮม์ ในประเทศเยอรมนี ส่วนซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสีและสารกัมมันตรังสีตัวอื่น ๆ ที่ใช้ในงานเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ได้มีการค้นพบในปี พ.ศ. 2470 โดยเกลนน์ ที.ที. ซีบอร์ก และผู้ร่วมงานของเขา คือ มาร์กาเร็ต เมลเฮล

ซีเซียม-137 เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร ?

ซีเซียม-137 จะเข้าได้จากอาหาร น้ำดื่ม หรือสูดดมฝุ่น ถ้าซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกายมันจะกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอตลอดเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย เป็นผลให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นได้รับรังสี และจากการวิจัยพบว่า จะมีปริมาณของโลหะสะสมที่กล้ามเนื้อมากกว่าบริเวณอื่นเล็กน้อย และพบน้อยกว่าในกระดูกและไขมัน เมื่อเปรียบเทียบเวลาการตกค้างอยู่ในร่างกายเทียบกับสารกัมมันตรังสีอื่น พบว่าซีเซียม-137 มีเวลาสั้นมาก โดยจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

นอกจากนี้ เรายังสามารถรับรังสีซีเซียม-137 จากภายนอกร่างกายได้ โดยการรับจากรังสีแกมมาที่ได้จากการสลายตัวของซีเซียม-137 จากภายนอกร่างกาย

เราจะรู้ว่าเข้าใกล้ซีเซียม-137 ได้ โดยการใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น เครื่องสำรวจรังสี (Survey Meter) ในการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีว่ามีอยู่หรือไม่ เนื่องจากเราไม่สามารถรู้สึกว่าได้รับรังสี หรือได้รับรสหรือกลิ่นจากซีเซียม-137

ผลของซีเซียม-137 ที่มีต่อสุขภาพ

เมื่อร่างกายได้รับซีเซียม-137 จะมีผลทำให้เกิดอัตราการเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น จากการได้รับรังสี แต่หากได้รับจากดิน น้ำ ในปริมาณที่น้อย ก็ยังมีความเสี่ยงเช่นกัน และสำหรับกรณีได้รับปริมาณรังสีสูงมาก ๆ จะทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนังอย่างรุนแรง ซึ่งอาจมีผลทำให้เสียชีวิต แต่โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นได้น้อย

การจะตรวจว่าร่างกายได้รับรังสี ตรวจได้จากปัสสาวะ อุจจาระ หากร่างกายได้รับปริมาณที่มาก สามารถตรวจด้วยวิธีการวัดแบบทั่วร่างกาย ซึ่งจะตรวจได้จากรังสีแกมมาที่แผ่ออกมาจากซีเซียม-137 ในร่างกาย ตรวจจากเนื้อเยื้ออ่อนจากอวัยวะ เลือด กระดูก น้ำนม เป็นต้น

ป้องกันจากซีเซียม-137 ได้ไหม ?

เราแทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงในการรับซีเซียม-137 ที่แพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ แต่หากได้รับรังสีไปแล้ว จากความไม่รู้ จากอาชีพ เช่น รับซื้อของเก่า ขายของเก่า เศษเหล็ก โลหะต่าง ๆ โรงงานหลอมเหล็ก หล่อโลหะ เป็นต้น ดังนั้นเราต้องระวังตัวเองให้มากที่สุด มีอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อป้องกันในเบื้องต้น