หมอธีระ เกาะติดโควิด XBB.1.16 คาดไทยติดเชื้อใหม่รายวันแตะหมื่นคน

นพ.ธีระ วรธนารัตน์
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.ธีระ เผยทั่วโลกติดเชื้อโควิดเพิ่ม 29,147 ราย ประเทศในยุโรป เอเชีย ครอง 8 ใน 10 อันดับแรกผู้ติดเชื้อรายใหม่มากสุด ชี้โอมิครอน XBB.1.16.x เพิ่มขึ้น 42 ประเทศทั่วโลก จับตาสถิติในไทย คาดมีโอกาสติดเชื้อรายใหม่วันละ 7,772-10,794 ราย แนะผู้ติดเชื้อกักตัว 14 วัน ปลอดภัย

วันที่ 25 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดว่า เมื่อวาน (24 เม.ย.) ทั่วโลกติดเพิ่ม 29,147 คน ตายเพิ่ม 149 คน รวมแล้วติดไป 686,558,099 คน เสียชีวิตรวม 6,860,033 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ รัสเซีย โรมาเนีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และเวียดนาม

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.65 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 91.27

พร้อมกับระบุถึงโควิดสายพันธุ์ XBB.1.16.x ว่า อัพเดต XBB.1.16.x โดยอ้างข้อมูลจาก GISAID (Cr : Rajnarayanan R, US) ล่าสุดพบว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16.x นั้นมีรายงานการตรวจพบเพิ่มขึ้นเป็น 42 ประเทศทั่วโลก

ทาง Nextstrain ได้กำหนดรหัสสำหรับ XBB.1.16 ให้เป็น clade 23B (Omicron) เรียบร้อยแล้วต่อจาก XBB.1.5 ซึ่งเป็น 23A เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างเป็นระบบ เนื่องจากข้อมูลจนถึงปัจจุบันบ่งชี้ให้เห็นว่า XBB.1.16.x นั้นมีสมรรถนะในการแพร่ที่เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และมีรายงานจากหลายประเทศทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน XBB.1.16 มีการแตกหน่อต่อยอดมีลูกหลานหลากหลายสายพันธุ์ย่อยแล้ว อาทิ XBB.1.16.1, XBB.1.16.2, XBB.1.16.3, FU.1, FU.2

เกาะติดสถานการณ์ไทย คาดติดเชื้อใหม่รายวัน 7,772-10,794 ราย

สำหรับไทยเรามีคนติดเชื้อและป่วยเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจน สังเกตได้จากคนรอบตัวเราและมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เข้าระบบรายงาน ควรตระหนักถึงสถานการณ์ระบาดในปัจจุบันและป้องกันตัวให้ดี

ตัวเลขรายสัปดาห์ 16-22 เมษายน 2566 จำนวนผู้ป่วยนอนรักษาตัวในรพ. 1,088 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 150% หรือมากขึ้นถึง 2.5 เท่า จำนวนเสียชีวิต 5 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 2.5 เท่า และคาดประมาณจำนวนติดเชื้อใหม่รายวันอย่างน้อย 7,772-10,794 ราย

จะสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลในแต่ละสัปดาห์นั้นเพิ่มขึ้นถึง 2.59 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ ในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยสัปดาห์แรกนั้นขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วงสงกรานต์ ดังนั้น จึงเป็นตัวสะท้อนว่าการระบาดที่ปะทุขึ้นมานั้นเกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้ว

สอดคล้องกับธรรมชาติของแต่ละระลอกที่ผ่านมา ที่มักมี grace period อยู่ราว 6-8 สัปดาห์ ไม่ได้เป็น seasonal pattern แต่เป็นไปในแบบ cyclical pattern ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ รวมถึงการเปิดเสรีเดินทางท่องเที่ยว พฤติกรรมเสี่ยงในการใช้ชีวิตประจำวัน และการถดถอยของภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงได้ตามกาลเวลา

แนะผู้ติดเชื้อกักตัว 14 วัน ปลอดภัย

ติดเชื้อแล้วยังควรแยกตัวจากผู้อื่น (หรือไม่) นพ.ธีระระบุว่า ด้วยหลักฐานทางการแพทย์จากการวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากติดเชื้อและกักตัว 5 วัน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้อยู่ 50-75% หากติดเชื้อและกักตัว 7 วัน 25-30%, 10 วัน 10% และ 14 วัน ก็จะปลอดภัย

แต่หาก “ไม่กักตัว” ไม่ว่าจะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยก็แล้วแต่ ย่อมเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นได้มาก แม้จะใส่หน้ากากก็ป้องกันได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานพยาบาล สถานศึกษา สถานที่ดูแลเด็ก/ผู้สูงอายุ รวมถึงสถานบริการที่มีการให้บริการดูแลผู้คนจำนวนมาก ความเสี่ยงจะสูงมาก และนำไปสู่ความสูญเสียได้มากเป็นเงาตามตัว

ทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมคือ “แยกตัว 7-10 วันจนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ” จากนั้นจึงค่อยมาทำงานหรือใช้ชีวิต โดยป้องกันตัวเคร่งครัดจนครบ 14 วัน ที่ทำงานควรช่วยกันปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของตนเองให้มีการถ่ายเทอากาศ ระมัดระวังการรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ล้างมือหลังหยิบจับของสาธารณะ เว้นระยะห่างจากคนอื่น
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเมื่อออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก