เผยข้อมูลจัดอันดับขนส่งสาธารณะโลก 100 เมือง กรุงเทพฯรั้งที่ 92 ของโลก!

วันนี้ (12 มีนาคม) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม.และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นเรื่องประกวดขนส่งสาธารณะโลก 100 เมือง กรุงเทพฯ ติดอันดับเท่าไหร่? โดยระบุว่า

ผมได้อ่านรายงานเรื่อง “Sustainable Cities Mobility Index 2017” โดย ARCADIS ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รายงานนี้ได้จัดอันดับการให้บริการขนส่งสาธารณะของเมืองต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งกรุงเทพฯ จำนวน 100 เมือง ลองตามมาดูกันว่าขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ติดอันดับเท่าไหร่ของโลก

ขนส่งสาธารณะครอบคลุมยานพาหนะหลากหลายประเภท เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ เรือ รถแท็กซี่ รถสองแถว และรถตุ๊กตุ๊ก เป็นต้น สำหรับรถไฟฟ้า รถไฟ รถเมล์ และเรือนั้น ถือเป็นขนส่งมวลชนด้วย เพราะสามารถขนผู้โดยสารได้ครั้งละมากๆ

รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมารวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตามแผนแม่บทรถไฟฟ้าซึ่งมีระยะทางรวมทั้งหมดเกือบ 500 กิโลเมตร ทำให้ถึงเวลานี้เรามีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วรวมระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร และจะทยอยเปิดเป็นระยะๆ ต่อไปในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความต้องการที่จะปรับปรุงรถเมล์ แต่ดูเหมือนว่าเป็นการปรับปรุงที่ดำเนินไปอย่างล่าช้ามาก

การจัดอันดับขนส่งสาธารณะเป็นการให้คะแนนประสิทธิภาพของการให้บริการจำนวน 23 รายการ เช่น จำนวนสถานีและป้ายรถเมล์ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร สัดส่วนผู้ใช้รถสาธารณะ การให้บริการ Wifi การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (เช่น ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ และ Applications ผ่านมือถือ) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ จำนวนชั่วโมงที่ให้บริการ การปล่อยมลภาวะ ระยะเวลาการเดินทาง จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร และสัดส่วนของค่าโดยสารเปรียบเทียบกับรายได้ เป็นต้น

ผลการจัดอันดับปรากฏว่า ฮ่องกงได้อันดับที่ 1 ด้วยระบบรถไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง ตามด้วยอันดับที่ 2.ซูริก 3.กรุงปารีส 4.กรุงโซล 5.กรุงปราก 6.กรุงเวียนนา 7.กรุงลอนดอน 8.สิงคโปร์ 9.กรุงสตอกโฮล์ม และ 10.แฟรงก์เฟิร์ต เมืองเหล่านี้ติดกลุ่ม 10 อันดับแรก ซึ่งประกอบด้วยเมืองในยุโรป 7 เมือง และเมืองในเอเชีย 3 เมือง ส่วนกรุงโตเกียวที่คนไทยนิยมไปท่องเที่ยวกันนั้นติดอันดับ 13

กรุงเทพฯของเราไม่ติดกลุ่ม 10 อันดับแรก แต่ติดกลุ่ม 10 อันดับสุดท้าย โดยได้อันดับที่ 92 ส่วนเมืองในอาเซียน เช่น จาการ์ตาได้อันดับที่ 89 กัวลาลัมเปอร์ อันดับ 95 และฮานอย อันดับ 96 สำหรับอันดับที่ 97-100 นั้นไม่มีการเปิดเผยชื่อ

การจัดอันดับขนส่งสาธารณะโลกครั้งนี้แม้จะเป็นการประเมินโดยองค์กรเดียวก็ตาม แต่ก็นับว่าเป็นกระจกสะท้อนถึงการทำงานด้านขนส่งสาธารณะของเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้น เราจะต้องช่วยกันทำงานอย่างหนักทุกวิถีทางเพื่อยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะของเราให้ดีให้ได้

 

ที่มา มติชนออนไลน์