กรมอุตุฯเตือน พายุโซนร้อน “ทกซูรี” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว

พายุไต้ฝุ่น
ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา พายุไต้ฝุ่น "ทกซูรี (DOKSURI)"

กรมอุตุฯเตือน พายุโซนร้อนกำลังแรง “ทกซูรี (DOKSURI)” ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว คาดเคลื่อนเข้าเกาะไต้หวันช่วง 26-27 ก.ค. ระบุแม้ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้หลายจังหวัดของไทย รวม กทม.และปริมณฑล ยังมีฝนตกหนัก 60-80% ของพื้นที่ ช่วง 24-26 ก.ค.นี้ 

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตเส้นทางพายุโซนร้อนกำลังแรง “ทกซูรี (DOKSURI)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) ล่าสุดว่า เมื่อเวลา 01.00 น. (24/7/66) พายุนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้เกาะไต้หวัน ช่วง 26-28 ก.ค. 66 พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น (ข้อมูลนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ตามข้อมูลที่มีการประมวลผลใหม่)

ส่วนรายงานฝนสะสม 24 ชม.ที่ผ่านมา (23 ก.ค. 2566) ตั้งแต่เวลา 07.00 น.ของวันที่ 23 ก.ค. 2566 ถึงเวลา 07.00 น. ของวันที่ 24 ก.ค. 2566 จากสถานีตรวจวัดของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ปริมาณฝนมากที่สุดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดได้ 113.1 มม. ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธ์ุ

ส่วน กทม. รายงานจากสำนักการระบายน้ำ มีรายงานฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ปริมาณฝนสูงสุดวัดได้ 100.0 มม. ที่จุดวัดคลองประเวศฯ-รพ.ลาดกระบัง เขตลาดกระบัง

อุณหภูมิสูงสุดบริเวณประเทศไทย เมื่อวานนี้ (23 ก.ค. 2566) บริเวณภาคเหนือ วัดได้ 37.2 องศาเซลเซียส ที่ อ.ท่าวังผา จ.น่าน

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 34.4 องศาเซลเซียส ที่กรมอุตุนิยมวิทยา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า กทม.24-30 ก.ค.66
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า กทม. 24-30 ก.ค. 66

สำหรับการคาดหมายอากาศทั่วไป ระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค. 2566

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก

ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมา ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 29-30 ก.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังค่อนข้างแรงตลอดช่วง ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 26-27 ก.ค. 2566 หลังจากนั้นจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 28-29 ก.ค. 2566

ข้อควรระวัง
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งตลอดช่วง

พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า 24-30 ก.ค. 2566
พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า 24-30 ก.ค. 2566

 

คาดหมายอากาศรายภาค ระหว่าง 24-30 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-25 และ 29-30 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกและตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-38 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 24-26 และ 29-30 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 27-28 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-37 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ส่วนในวันที่ 26-30 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณด้านตะวันตกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-38 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งตลอดช่วง

ตั้งแต่ จ.สุราษฏ์ธานีขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราชลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งตลอดช่วง

ตั้งแต่ จ.พังงาขึ้นมา ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ตั้งแต่ จ.ภูเก็ตลงไป ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27-35 องศาเซลเซียส

กรุงเทพฯและปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 24-25 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.

ส่วนในวันที่ 26-30 ก.ค. 66 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส

แผนที่อากาศพื้นผิว
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนใต้ และมีพายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี (DOKSURI)” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก