กรมอุตุฯเตือนอิทธิพลจากมรสุม เหนือ อีสาน ใต้ มีฝนตกหนัก 3-9 ส.ค.นี้

อธิบายภาพ: เส้นทางพายุไต้ฝุ่น
อธิบายภาพ: ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมีพายุไต้ฝุ่น "ขนุน (KHANUN)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และมีพายุดีเปรสชันบริเวณประเทศอินเดียอีก 1 ลูก

กรมอุตุฯเตือน 7 วันข้างหน้า ยังมีฝนตกต่อเนื่อง และตกหนักทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เฉลี่ย 70% ของพื้นที่ อิทธิพลจากลมมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพัดผ่าน เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ส่วน “พายุไต้ฝุ่นขนุน” คาดเคลื่อนตัวโค้งกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น เตือนผู้ที่จะเดินทางไปจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทาง

วันที่ 3 สิงหาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (3 ส.ค. 66) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณมีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

พายุไต้ฝุ่นขนุน

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ขนุน” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของจังหวัดโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น และตอนบนของสาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) ประเทศจีนในช่วงวันที่ 2–5 ส.ค. 66 ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าว โปรดตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในระยะนี้ไว้ด้วย

ส่วนพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า : ในช่วงวันที่ 4 – 9 ส.ค. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เฉลี่ยร้อยละ 70 ของพื้นที่

ภาพถ่ายดาวเทียม อิทธิพลจากลมมรสุม ทำให้ภาคเหนือ อีสานตอนบน และภาคใต้ฝั่งอันดามันยังมีฝนตกหนัก
อิทธิพลจากลมมรสุมทำให้ภาคเหนือ อีสานตอนบน และภาคใต้ฝั่งอันดามันยังมีฝนตกหนัก (ภาพ : กรมอุตุนิยมวิทยา)

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ข้อควรระวัง : ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง

พื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก 3-4 ส.ค.2566

 

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วง (2 – 3 ส.ค. 66): ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ขนาด 4.3, 3.9, 4.0, 4.9, 4.9, 4.1, 4.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ขนาด 4.6, 2.4, 2.5 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา
ขนาด 1.7 มีศูนย์กลางอยู่ที่ต.แม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ขนาด 1.9 มีศูนย์กลางอยู่ที่ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

คาดหมายอากาศ 3-9 ส.ค.2566