
กรมการแพทย์แนะสังเกต 3 ความผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อม หลังจำนวนผู้ป่วยสมองเสื่อมเพิ่มปีละ 1 แสนคน
วันที่ 21 ธันวาคม 2566 แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม พบว่ามีจำนวนสูงขึ้นในทุก ๆ ปี เฉลี่ยปีละหนึ่งแสนคน ส่งผลกระทบทั้งตัวผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม หากพบตั้งแต่ในระยะแรกจะสามารถชะลอโรคได้ โดยบุคคลใกล้ชิดสามารถสังเกต 3 อาการคือ การสูญเสียความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ หากพบให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เช่นเดียวกับการบริหารสมอง
ทั้งนี้ ภาวะสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ การดำเนินชีวิตของผู้ป่วย โดยเฉพาะกระทบต่อภาระในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมของครอบครัว
โดยมีอาการคือ สูญเสียความสามารถทางสมอง เช่น ความจำ การรับรู้ ความเข้าใจ การใช้ภาษา ทิศทาง การใช้เหตุผล และการแก้ปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและบุคลิกภาพ โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม
ด้านแพทย์หญิงบุษกร โลหารชุน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุกล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุให้สำเร็จ คือการบูรณาการร่วมกันโดยทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือและดูแลตนเองได้ยาวนานที่สุด มีภาวะพึ่งพิงช้าที่สุด
โดยอาศัยกลไกตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละกรม กอง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนาแนวทางการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ ส่งเสริมการเข้าถึง และเป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ในทุกระดับ
ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านผู้สูงอายุในทุกระดับสถานพยาบาล เน้นตัวแทนในเครือข่ายบริการ (CUP) ไปจนถึงระดับติดตามประเมินผล คือสาธารณสุขอำเภอ และสาธารณสุขจังหวัด ครอบคลุมทุกจังหวัด