
20 ปี คดีตากใบ ย้อนรอยเส้นทางการชุมนุมและความสูญเสีย กรณีการสลายการชุมนุมในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จนมีผู้เสียชีวิต 85 ราย พร้อมแนวทางการจัดการของรัฐบาลแพทองธารในวันที่คดีความหมดอายุลง
ย้อนกลับไปวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลา 09.30 น. กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนประมาณ 200 คน นั่งรถยนต์กระบะ 10 คัน ไปรวมตัวกันที่หาดเสด็จ บ้านตาบา หมู่ 1 ต.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปที่บริเวณหน้าสภ.อ.ตากใบ พร้อมชูป้ายโปสเตอร์เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวชาวบ้านชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.บ้านโคกกูแว ต.พร่อน 6 คน ที่ถูกจับไปดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จ และยักยอกทรัพย์สินของทางราชการ
หลังจากเข้าแจ้งความตำรวจ ว่าถูกคนร้ายปล้นอาวุธปืนลูกซอง 5 นัดไป เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547 ทว่าต่อมายอมรับว่ากุเรืองขึ้นมาเอง เนื่องจากถูกคนร้ายข่มขู่ให้นำปืนไปมอบให้ ไม่เช่นนั้นจะทำร้ายคนในครอบครัว
10.00 น. หลังจากได้รับรายงานว่ามีกลุ่มวัยรุ่นอีกหลายร้อยคนนั่งรถยนต์ กระบะจาก อ.บาเจาะ, อ.ระแงะ, อ.สุไหงปาดี และ อ.เจาะไอร้อง มุ่งหน้าตามไปสมทบยังจุดชุมนุม ด้าน พ.ต.อ.สมหมาย พุทธกูร ผกก.สภ.อ.ตากใบได้ประสานไปยัง พล.ต.ต.กมล โพธิยพ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) นราธิวาส ขอกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) และกำลังตำรวจเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาระวังเหตุที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จำนวน 6 ชุดปฏิบัติการ
ขณะเดียวกัน กำลังทหารหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ (ฉก.นย.ภต.) ค่ายจุฬาภรณ์ ที่ตั้งจุดตรวจบนถนนสายนราธิวาส-ตากใบ-สุไหงโก-ลก บริเวณปากทางเข้า อ.ตากใบ ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสกัดรถยนต์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ให้เดินทางเข้าไปรวมตัวกันได้
10.30 น. กลุ่มผู้ชุมนุมใช้กำลังแหกด่านสกัดของ ฉก.นย.ภต. และบางส่วนเดินเท้าเข้าไปยังหน้า สภ.อ.ตากใบ เพิ่มมากขึ้นถึง 500 คน จากนั้นได้กรูกันเข้าไปในที่ตั้งของ สภ.อ.ตากใบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ยิงปืนขึ้นฟ้าสกัดกลุ่มผู้ชุมนุมจึงล่าถอยไปชุมนุมกันในจุดเดิม
เมื่อจำนวนกลุ่มผู้ชุมนุมหนาตาขึ้นเป็นลำดับ เพิ่มจำนวนขึ้นถึงราว 700 คน ผกก.สภ.ตากใบ จึงออกคำสั่งให้ชาวบ้านใกล้บริเวณจุดชุมนุมปิดบ้านและร้านค้า
11.00 น. พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4, นายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.), พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผบช.ภ.9 และนายวิชม ทองสงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เดินทางไปยัง สภ.อ.ตากใบเข้าพูดคุยชี้แจง
ทว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่มีแนวร่วมเพิ่มขึ้นราว 1,000 คน ไม่ยอมเจรจา พร้อมกับโห่ร้องอยู่ตลอดเวลา แม่ทัพภาคที่ 4 จึงเปลี่ยนแผนใหม่ โดยเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องที่ห้องประชุม สภ.อ.ตากใบ มติที่ประชุมเห็นพ้องให้เชิญคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาสมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย
12.30 น. นายอับดุลราชัค อาลี เลขานุการ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เดินทางมาถึง จากนั้นได้เปิดฉากเจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมยืนกรานให้ปล่อยตัวชาวบ้านชุด ชรบ.ทั้ง 6 คนในทันที โดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อการเจรจาไม่มีทีท่าจะยุติปัญหาได้ นายปิยะ ศิลปะศิลปิน นายอำเภอตากใบจึงเชิญผู้ปกครองผู้ชุมนุมมาเจรจากล่อมให้บุตรหลานสลายตัว
ซึ่งมีรายงานในตอนนั้นว่า กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนใน อ.ตากใบ ส่วนใหญ่เชื่อฟังพ่อแม่จึงพากันสลายตัวกลับบ้านเหลือผู้ชุมนุมอยู่ราว 400 คนเท่านั้น
15.00 น. แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการตำรวจและทหารประมาณ 300 นายเข้าสลายการชุมนุม หลังจากได้รับรายงานจากสายข่าวที่แฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมว่า แกนนำผู้ชุมนุมลอบลำเลียงอาวุธเข้ามา และบางกลุ่มยังมีลักษณะคล้ายคนเมาด้วย การสลายการชุมนุมเริ่มจากใช้รถดับเพลิงของเทศบาล ต.ตากใบ 3 คัน ฉีดน้ำแรงสูงเข้าใส่ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างก้อนอิฐ, ก้อนหิน และไม้ท่อนที่เตรียมมาใส่เจ้าหน้าที่
ทางทหารและตำรวจยิงปืนขึ้นฟ้าขู่กลับ กลุ่มผู้ชุมนุมหมอบตัวลงกับพื้น และบางส่วนหลบหนีลงแม่น้ำตากใบ เจ้าหน้าที่จึงสลายการชุมนุมได้สำเร็จ โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 45 นาที ผลจากการเข้าสลายการชุมนุมมีรายงานผู้เสียชีวิต 4 คน
จำนวนความสูญเสียจริงปรากฏ
หลังจากการสลายการชุมนุมยุติไม่ถึง 10 ชั่วโมง มีกระแสข่าวยอดผู้เสียชีวิตพุ่งจำนวนมาก จนกระทั่งวันที่ 26 ตุลาคม 17.30 น. ที่จ.ปัตตานี นายมานิตย์ สุธาพร รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และ พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมแถลงถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
นายมานิตย์กล่าวว่า จากการขนส่งผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 78 รายอยู่ภายในรถบรรทุกทหาร (ไม่รวมกับที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 ราย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิต 84 ศพ) สาเหตุวิเคราะห์ว่าเพราะสภาพร่างกายค่อนข้างอิดโรย เนื่องจากอยู่ในช่วงถือศีลอด ประกอบกับอากาศร้อน และอยู่ในรถอย่างแออัดเป็นเวลานาน ทำให้ขาดอากาศหายใจ
ขณะที่ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ทั้ง 78 รายเป็นผู้เสียชีวิตระหว่างการขนส่งประมาณ 80% บอกได้ว่าขาดอากาศหายใจ ส่วนคนไข้ที่โรงพยาบาลปัตตานีรับไว้รักษาตัว 16 รายเกิดจากการเบียดเสียดกัน ทั้งไม่ได้รับประทานอาหาร ขาดน้ำ สภาพอากาศร้อน
ส่วน พล.ต.สินชัยกล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเสียชีวิตเป็นข้อผิดพลาดของใคร แต่ไม่ใช่การวิสามัญ เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายตามปกติหลังจากควบคุมตัว ซึ่งเมื่อมาถึงค่ายก็พบว่ามีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในรถ ซึ่งคงต้อง ตั้งคณะกรรมการศึกษาการขนย้าย เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต
คำชี้แจงของคุณหญิงพรทิพย์
เมื่อเดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ คุณหญิงพรทิพย์ได้ชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ต้องหาที่ร่วมชุมนุมประท้วงหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวม 78 ศพ โดยแสดงภาพศพที่เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งมีอาการเลือดออกใต้ตาขาว ลิ้นจุกปากใบหน้าเข้ม ลำตัวเป็นจุดดำจากการแตกของเส้นเลือด
พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า การขาดอากาศหายใจอาจมีสาเหตุมาจากทางเดินหายใจอุดตัน ถูกกด ทับที่ใบหน้า หรือถูกกดทับที่หน้าอก แต่ร่องรอยที่พบจากศพซึ่งมีฟองออกจากปากและจมูก ใกล้เคียงกับทฤษฎีของผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกวางทับซ้อนกันหลายชั้น
ส่วนสภาพศพที่มีอาการชักเกริงมีสาเหตุจากการขาดน้ำ ขาดอากาศ ทำให้เสียสมดุลของสารคัดหลั่งในร่างกาย อาการคล้ายฮีตสโตรก (Heat Stroke) ของทหารเกณฑ์ที่ถูกฝึกหนักท่ามกลางอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ส่วนบาดแผลที่พบทั้ง 78 ศพ มีเพียงบาดแผลถลอก และฟกช้ำจากการถูกทำร้าย ไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์จากการถูกยิงหรือถูกแทง โดยทั้ง 78 ศพเสียชีวิตระหว่างเวลา 21.00-24.00 น. ของวันเกิดเหตุ
“หมอไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะต้องลงไปชันสูตรศพจำนวนมาก นำทีมแพทย์นิติเวชติดตามไปเพียง 4 คน และไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ไปเพื่อชันสูตรศพ เพราะได้รับการประสานให้ตรวจดีเอ็นเอ แต่เมื่อลงเครื่องบินที่หาดใหญ่เวลา 09.00 น. ถึงได้ทราบว่ามีผู้เสียชีวิต 78 ศพ โดยเป็นศพผู้ต้องหาที่ค้างอยู่ด้านในตัวรถ”
คุณหญิงพรทิพย์กล่าวอีกว่า สาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการขาดอากาศหายใจ ซึ่งร้ายแรงกว่าอาการฮีตสโตรก เพราะการขาดอากาศหายใจเพียง 5 นาทีก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว ส่วนผู้ที่สำลักน้ำตา จากการอยู่ในน้ำเกิน 3 ชั่วโมง มีอยู่ 3 คน
ชาวไทยพุทธถูกลอบยิงทั่วนราฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 16.40 น. วันเดียวกันที่ จ.นราธิวาส เกิดเหตุคนร้ายลอบยิ่งชาวไทยพุทธหลายราย โดยรายแรกนายกุ่ย แช่อุ่ย อายุ 72 ปี ถูกยิงขณะกลับออกมาจากสวนบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดที่ อ.สุไหงปาดี ถัดมานายทา ทะขุ่ย อายุ 42 ปี และนางอำนวย ทะขุ่ย เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พื้นที่อ.สุคิริน ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสทั้งคู่เวลา 17.30 น. นายบุญศรี นาคบาตร อายุ 24 ปี ถูกประกบยิงขณะขับจักรยานยนต์บนถนน ในพื้นที่ อ.แว้ง บาดเจ็บเช่นกัน
และช่วงค่ำยังมีวิทยุรายงานชาวไทยพุทธถูกยิงเข้ามาเป็นระยะ ตำรวจทุกพื้นที่เพิ่มความเข้มงวด เพราะช่วงหัวค่ำมีกลุ่มวัยรุ่นขับจักรยานยนต์ประมาณ 40 คัน ไปวนเวียนหน้า สภ.ต.ต้นหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส
ผู้นำมุสลิมเชื่อนรกแตกแน่
19.30 น. สำนักข่าวเอพีรายงานข่าวถึงการเสียชีวิตเพิ่มของผู้ชุมนุมประท้วงที่อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นข่าวด่วน โดยเฉพาะปฏิกิริยาจากบรรดาผู้นำมุสลิมในท้องถิ่นที่กล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่าทำเกินกว่าเหตุในการปราบปรามครั้งนี้ และอาจเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ
นายอัลดุลราห์มาน อับดุลชามัด ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส กล่าวกับเอพีว่า รู้สึกช็อกกับเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 84 คน
“ผมบอกไม่ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่านรกแตกแน่นอน”
เอพีย้ำว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์เดี่ยว ๆ ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2547 ที่ผ่านมา
สื่อโลกจับตา
กรณียอดผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็วในเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงของไทยกลายเป็นข่าวใหญ่ของสถานีโทรทัศน์ข่าวระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็น (CNN) และบีบีซี (BCC) โดยผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานสดการแถลงข่าวยอดผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นข่าวเบรกกิ้ง นิวส์ (Breaking News) เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น.
ส่วนบีบีซีรายงานเป็นข่าวหัว หรือเฮดไลน์นิวส์ในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งซีเอ็นเอ็นและบีบีซีต่างระบุว่า ยังต้องรอรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวจากทางการอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างประเทศในไทยรายงานออกไปทั่วโลก อย่างรอยเตอร์ (Reuters) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ไม่เพียงรายงานยอดผู้เสียชีวิตใหม่จากการแถลงของนายมานิตย์ สุธาพร รองปลัดกระทรวงยุติธรรมแล้ว แต่ยังจับประเด็นความพยายามในการค้นหาอาวุธและควานหาตัวผู้บงการเหตุการณ์ดังกล่าว
และอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ที่เกรงกันว่าความรุนแรงต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้อาจทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งเกณฑ์สมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายระดับโลก อย่างเจมาห์อิสลามิยาห์ (เจไอ) หรือขบวนการอัลเคด้า
ด้านนายเอ็ดการ์ วาสเควซ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ออกมาเรียกร้องให้ไทยเร่งสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจอย่างยิ่ง ซึ่งทางการของไทยต้องรับผิดชอบต่อวิธีการในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในครั้งนี้ สหรัฐมีความเป็นห่วงกังวลต่อการสูญเสียชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทางภาคใต้ของไทย และหวังว่ารัฐบาลไทยจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ โดยไม่ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นอีก
รัฐบาลแถลง 3 สาเหตุการสูญเสีย
ณ ทำเนียบรัฐบาล นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม.ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่ามีสื่อมวลชนบางส่วนรายงานข่าวคลาดเคลื่อน ว่าเจ้าหน้าที่มุ่งทำร้ายผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่ง ครม.มีความห่วงใยเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ เพราะข้อเท็จจริงคือไม่มีการยิงปืนเข้าใส่ผู้ชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
การยิงปืนทั้งหมดเป็นการยิงขึ้นฟ้า เพื่อจัดระเบียบในภาวะที่สับสนอลหม่าน “ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตเกิดจาก 3 สาเหตุสำคัญ 1.ร่างกายของผู้ชุมนุมที่อ่อนเพลียเนื่องจากการถือศีลอด เมื่อต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เบียดเสียด มีการขยับเขยื้อนด้วยความรุนแรง จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต 2.กลุ่มที่เสพยาเสพติดหรือสารบางอย่างที่อาจไม่ใช่ยาเสพติด แต่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สามารถครองสติได้ และ 3.อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างชุมนุมและสลายการชุมนุม”
นอกจากนี้ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จากการสอบสวนจึงรู้วิธีการจัดการว่าค่อนข้างจะมีรูปแบบแบบไดเร็กต์เซล (จัดตั้งขายตรง) พอสมควร นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ชุมนุมพบว่ามีการใช้สารเสพติดที่เป็นสารกระตุ้นประสาท หลายคนมีอาการเมา แต่ไม่มีกลิ่นสุรา คล้ายกับกรณีที่มัสยิดกรือเซะที่มีเด็กวัยรุ่นบางคนที่รับสารภาพว่าถูกให้ดื่มน้ำที่อ้างว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่รู้ว่าเป็นยาทำให้ไม่รู้ตัวว่าทำอะไรไป
เหตุการณ์ครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะมีการดึงเด็กและเยาวชนที่ไม่รู้และให้ดื่มยาทำให้เกิดความคะนอง ซึ่งกำลังสำรวจอยู่ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ พบว่ามีอาการเมาตั้งแต่ตอนเช้าหลายคน
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้เป็นช่วงรอมฎอน การอดอาหารทำให้การดูดซึมยาประเภทนี้เร็วมาก เมื่อกินยาเข้าไปจะเกิดอาการเร็ว เนื่องจากท้องว่าง ยาประเภทนี้เป็นประเภทยากล่อมประสาท ผมเคยเห็นและเคยให้ส่งให้แพทย์ไปตรวจสอบ แต่จำชื่อยาไม่ได้ พวกนี้ซื้อจากร้านขายยาทั่วไป ที่ อ.หาดใหญ่ ก็มี เป็นยาเม็ดสีขาว ซึ่งได้ให้กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าดู หากมีการขายยาประเภทนี้มากผิดปกติจะเข้าไปตรวจทั้งระบบ”
ท่าทีรัฐบาลกับอายุคดีความที่หมดลง
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แถลงข่าวกรณีตากใบว่า ได้เตรียมการในประเด็นสำคัญที่จะรับมือผลกระทบที่จะตามมา 4 เรื่องเมื่อคดีความหมดอายุลง คือ
1.มีการคาดการณ์ว่าจะก่อเหตุความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งภาครัฐเฝ้าระวังพื้นที่อย่างเข้มข้นมากขึ้น
2.มีการกำชับระดับหน่วยปฏิบัติให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำบุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการห้ามซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย
3.ดำเนินกระบวนการเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีกรณีตากใบ ซึ่งจะรู้ว่ายังจะมีอะไรที่เพิ่มเติมได้อีกบ้าง นอกเหนือจากการเยียวยาที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ และดำเนินการเมื่อนานมาแล้ว
4.กระบวนการพูดคุย รัฐจะเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุย และการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของการพูดคุยและสร้างสันติภาพระยะต่อไปในภาพรวม เลขาฯ สมช.ชี้แจงว่าได้เตรียมการทำข้อเสนอต่อรัฐบาล
ด้าน สมช.เสนอตั้งคณะพูดคุยสันติสุขใหม่ โดยภาครัฐยินดีที่จะเปิดพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ และยังให้ข้อมูลอีกว่านายมูฮัมหมัด ราบิน บาเซีย ฝ่ายมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยมีความจริงจังอย่างไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปี และฝ่ายภาครัฐกำลังพิจารณาลดการใช้กฎหมายพิเศษ และอาจออกกฎหมายอื่นใช้แทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า ตนได้ฝากความเห็นไปยังเลขาฯ สมช. ควรรีบสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบที่ผ่านมา ตั้งแต่การควบคุมดูแลการชุมนุม การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม การดำเนินคดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในช่วงขั้นตอนการควบคุมการชุมนุม และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นบาดแผลที่สำคัญของสังคมไทยไปรอบหนึ่งแล้วในทางความรู้สึกของประชาชน ต่อมาเมื่อพบว่ามีความพยายามที่จะดำเนินคดี และสามารถดำเนินคดีได้ในระยะหลังนี้

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีตากใบว่า รู้สึกเสียใจกับผู้ได้รับผลกระทบทั้งหลาย เมื่อย้อนกลับไปตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ, รัฐบาลยุคของ พล.อ.สุรยุทธ์ได้มีการขอโทษ, แสดงความเสียใจ รวมถึงมีการเยียวยาต่อผู้เสียหาย ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องขอโทษในนามของรัฐบาลด้วย และจะทำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก
ส่วนประเด็นทางกฎหมายเอง รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการส่งคำถามไปกฤษฎีกาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เร่งรัดในกระบวนการต่าง ๆ ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ในเรื่องของการออก พ.ร.ก. โดยได้คำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางดำเนินการทางกฎหมายว่า
เมื่อพิจารณาหลักการของ กม.แล้ว ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย เห็นว่ากรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนด มาตรา 172 และมาตรา 174 ส่วนเนื้อหาที่เป็นการต่ออายุความเฉพาะคดีอันเป็นการตรากฎหมายขึ้นเพื่อเป็นการบังคับใช้กรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ไม่ได้มุ่งขยายอายุความในคดีลักษณะเดียวกันเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้องกับมาตรา 26 วรรค 2 ทั้งยังอาจเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามมาตรา 27 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย และหลักกฎหมายอาญาสากล
“อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกคนรวมทั้งรัฐบาลเองให้ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่สงบสุข ไม่อยากให้ทุกฝ่ายเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ขอให้ทุกคนพยายามเรื่องนี้อย่างเต็มที่ รัฐก็จะพยายามอย่างเต็มที่เช่นกัน” น.ส.แพทองธารกล่าวทิ้งท้าย