ไทยสูบรายได้จากผู้สร้างภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศกว่า 5,533 ล้านบาท จากสถิติ 10 เดือนของปี 2567 พร้อมส่องกลุ่มธุรกิจ-อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากกองถ่ายทำนี้
ทันทีที่ปล่อยตัวอย่างแรกของซีรีส์ดังสัญชาติอเมริกันอย่าง The White Lotus 3 กับงานแสดงครั้งแรกของลิซ่า ศิลปินสาวสัญชาติไทยที่เรียกน้ำย่อยได้เป็นอย่างดีกับประโยค “Welcome to the white lotus Thailand ka” ก็สามารถกระตุกต่อมความต้องการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันสำหรับซีซั่นนี้ คือ การใช้ประเทศไทยเป็นโลเกชั่นหลักของซีซั่นนี้ กลายมาเป็นความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่ว่า จะได้รับอิทธิพลใดจากการฉายของภาพยนตร์ระดับโลกอย่างไรบ้าง ที่เดาได้ไม่ยาก คือ การสะพัดของธุรกิจท่องเที่ยวที่จะมีการ “มาตามรอย” ของผู้ชมทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของทศวรรษนี้ที่ถูกผลักดันจากรัฐบาลให้มีมาตรการดึงดูดนักลงทุน ด้วยความคาดหวังจะได้รายได้เข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีธรรมชาติสวยงาม ทั้งภูเขา ทะเล แหล่งน้ำ รวมถึงวัฒนธรรม สถานที่ทางประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นจุดหมายปลายทางของกองถ่ายทำภาพยนตร์ของคนทั่วโลก และมีรายได้จากกองถ่ายทำเข้ามาในหลักหลายพันล้านมาตลอดหลายปี
เกือบครบปี 2567 กวาดไปกว่า 5,533 ล้าน
สำหรับสถิติรายได้ของปีนี้ กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ Thailand Film Office (TFO) เผยจำนวนภาพยนตร์ต่างประเทศที่มาถ่ายทำในประเทศไทยปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) จำนวน 404 เรื่อง กวาดรายได้กว่า 5,533,750,318 บาท และจำนวนทีมงานต่างชาติ 7,055 คน และคนไทย 23,662 คน
มีจำนวนภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำ 404 เรื่อง จากประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น
- ภาพยนตร์โฆษณา 166 เรื่อง
- ภาพยนตร์สารคดี 67 เรื่อง
- รายการโทรทัศน์ 53 เรื่อง
- ภาพยนตร์เรื่องยาว 42 เรื่อง
- มิวสิกวิดีโอ 33 เพลง
- รายการเกม/เรียลิตี้ 29 รายการ
- ภาพยนตร์ชุด (ซีรีส์) 11 เรื่อง
- Stock Footage 2 เรื่อง
- รายการโทรทัศน์ 1 รายการ
และมี 5 อันดับประเทศและเขตปกครองพิเศษ ที่เข้ามาถ่ายทำ และสร้างรายได้สูงสุด ดังนี้
- เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน 1,243,115,421 บาท
- สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ 857,863,355 บาท
- สหรัฐอเมริกา 785,620,364 บาท
- สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 580,995,680 บาท
- สาธารณรัฐอินเดีย 383,497,234 บาท
เมื่อเทียบสถิติกับปีที่ผ่านมาพบว่า รายได้ในปี 2566 กว่า 6,602 ล้านบาท มากกว่าในปีนี้ 1,000 ล้านบาท แม้ว่าจะเหลือเวลานับสถิติอีก 2 เดือนก็ตาม ซึ่งถึงแม้ว่ารายได้จากกองถ่ายต่างประเทศจะลดลง แต่สำหรับสถานการณ์ภาพยนตร์และละครไทยก็กำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง
มาตรการดึงรายได้นอกบ้าน
จากรายได้กว่า 600 ล้านของภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “ธี่หยด” 1,900 ล้านบาทจากเรื่อง “หลานม่า” และ 130 ล้านบาทจากเรื่อง “วิมานหนาม” และนอกจากจะสร้างรายได้แล้วยังถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และความยากจนเรื้อรังของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในส่วนของละครไทยก็เติบโตตามกันมาติด ๆ จากกระแสการไปถ่ายรูปที่กระทรวงกลาโหมตาม “อนงค์” จากเรื่องหนึ่งในร้อย เรียกได้ว่าเป็นการกลับมาบูมอีกครั้งของละคร และการเติบโตไปสู่สากลโลกของภาพยนตร์ไทย
อย่างไรก็ตาม การนำรายได้เข้าสู่ประเทศยังคงมีความสำคัญ กรมการท่องเที่ยวจึงดำเนินมาตรการสร้างแรงจูงใจ และอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายทำ เพื่อดึงดูดให้เข้ามาถ่ายทำที่ประเทศไทยมากขึ้น พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมระบบนิเวศและปัจจัยสนับสนุนที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านอื่น ๆ ได้แก่
- มาตรการ Incentive หรือการคืนเงิน (Cash Rebate) เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศนั้น ๆ โดยมีหลายประเทศทั่วโลกที่นำมาตรานี้มาดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไอซ์แลนด์ อินเดีย และกรีซ ที่มีมาตรการในรูปแบบ Cash Rebate หรือรูปแบบ Tax Rebate ที่ฮังการีและฝรั่งเศสนำไปใช้ รวมถึง Tax Credit ที่ถูกใช้โดยออสเตรเลีย สเปน และอังกฤษ และสำหรับประเทศไทยมีการนำมาตรานี้มาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2560
ตามมติ ครม. 7 กุมภาพันธ์ 2566 มีการปรับมาตรการให้อยู่ในรูปแบบขั้นบันได โดยกองถ่ายทำภาพยนตร์จะได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้นตามค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำ 20-30% ของค่าใช้จ่ายการถ่ายทำทั้งหมด ได้แก่
- ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท ได้เงินคืน 20%
- ค่าใช้จ่ายทำตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท ได้เงินคืน 25%
- ค่าใช้จ่ายเกินกว่า 500 ล้านบาท จะได้เงินคืน 30%
ประกอบกับมาตรการเสริมเพิ่มเติม ที่สามารถเลือกได้ข้อหนึ่งข้อใดหรือมากกว่าหนึ่งข้อ แต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละ 5 ได้แก่
- ร้อยละ 3 หากมีการจ้างทีมงานหลักชาวไทย (Key Personnel)
- ร้อยละ 5 มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริม Soft Power และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศต้องยื่นหนังสือนำส่งหลักฐานตามแบบ ICM3 ต่อกรมการท่องเที่ยว ภายในระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันที่ภาพยนตร์ได้ออกฉายสู่สาธารณะ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลา 3 ปี หลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เสร็จสิ้นในประเทศไทย
- ร้อยละ 3 มีการถ่ายทำในจังหวัดเมืองรองตามนโยบายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีสัดส่วนจำนวนวันการถ่ายทำในจังหวัดเมืองรองไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนวันการถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด
- ร้อยละ 2 มีค่าใช้จ่ายในกระบวนการหลังการถ่ายทำ (Post-Production) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายที่เข้าเงื่อนไขทั้งหมด
- ร้อยละ 5 หากเริ่มถ่ายทำในประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 และมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
- ร้อยละ 5 หากมีค่าใช้จ่ายในประเทศไทยตั้งแต่ 150 ล้านบาทขึ้นไป และเริ่มการถ่ายทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
โดยในปี 2567 (มกราคม-ตุลาคม) มีภาพยนตร์ทั้งหมด 12 เรื่อง ที่ขอรับ Incentive
2. เปิดรับสมัครผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทำตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 และทางหน่วยงานมีการเปิดรับสมัครเป็นช่วง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายทำที่จะเข้ามาในประเทศไทย
โดยมีคุณสมบัติ คือ อายุ 20 ปีขึ้นไป, มีสัญชาติไทย หรือหากเป็นต่างชาติจะต้องมีใบรับรองผ่านการทดสอบทักษะการใช้ภาษาไทย และมีประสบการณ์ด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่น้อยกว่า 2 ปี (มีใบรับรอง)
ส่งต่อรายได้สู่วงการอื่น
สำหรับเงินลงทุนในทุกปีที่ประเทศไทยได้รับจากการถ่ายทำในประเทศไทยของต่างประเทศนั้น เคยถูกวิเคราะห์ไว้ โดยระบุว่า ในปี 2560-2566 ไทยได้รายได้จากการลงทุนของผู้สร้างภาพยนตร์ต่างชาติเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาทนั้น กระจายไปยังกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังนี้
ทีมงานวงการหนังไทย
ทีมงานของชาวไทยขึ้นชื่อในเรื่องของประสบการณ์การทำงานและความทุ่มเทให้ผลงานออกมาดีที่สุด กลายเป็นความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เกิดมาเป็นการว่าจ้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกองถ่ายทำ โดยเฉพาะทีมงานฝ่ายศิลป์ที่เนรมิตผลงานได้ออกมาตามความต้องการของผู้ผลิตภาพยนตร์
ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีการจ้างงานทีมงานคนไทยหลากหลายตำแหน่ง อาทิ ผู้กำกับ ผู้ช่วยผู้กำกับ ฝ่ายศิลป์ ฝ่ายจัดหาสถานที่ถ่ายทำ ฝ่ายตัดต่อ แผนกช่างไฟ ช่างกล้อง สไตลิสต์ ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ฝ่ายจัดหานักแสดง นักแสดงสมทบ และผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ที่ TFO มีการเปิดรับสมัครตลอดปี มีรายได้เข้ามากว่า 3,398 ล้านบาท
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย สำหรับภาคธุรกิจที่จะได้รับรายได้จากค่าที่พักทั้งระดับ Luxury เพื่อรองรับนักแสดง ผู้กำกับ หรือที่พักในชุมชนที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ และค่าอาหารที่กระจายไปตั้งแต่ร้านอาหารท้องถิ่น ไปจนถึงภัตตาคารหรู รวมถึงธุรกิจจัดเตรียมอาหารสำหรับทีมงานในกองถ่าย
ค่าพาหนะเดินทาง ตั้งแต่สายการบินที่เป็นนิติบุคคลไทย รถไฟ รถตู้ หรือยานพาหนะในท้องถิ่น ล้วนได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรับรายได้ไปกว่า 1,878 ล้านบาท
ค่าบริการสถานที่/อุปกรณ์
สำหรับการถ่ายทำของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง นอกจากการเช่าพื้นที่สตูดิโอ หรือโรงถ่ายทำที่เป็นของเอกชนแล้ว ยังมีพื้นที่ของรัฐ อาทิ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ พื้นที่สาธารณะที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงสถานที่ และเตรียมความพร้อมในการรองรับกองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บนั้นจะมีการจัดเก็บภาษีที่ภาครัฐได้รับโดยตรง คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ยังมีภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีประเภทอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกรมสรรพากรกำหนด มีรายได้เข้าประเทศกว่า 805 ล้านบาท
ในส่วนของการให้บริการเช่าอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานและทันสมัย สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกล้องคุณภาพสูง ไฟประกอบฉาก รางสไลด์ รางดอลลี่ หรือโดรน ประเทศไทยได้รายได้จากส่วนนี้ไปกว่า 1,968 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายโควิด-19 ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ที่ประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกองถ่ายทำ ทำให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายทั้งในการตรวจหา และคัดกรองเชื้อโรค และค่าใช้จ่ายการกักตัวของคณะถ่ายทำต่างประเทศ โดยได้รายได้จากส่วนนี้ไปประมาณ 894 ล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับปัจจุบันที่โรคระบาดโควิด-19 ถูกลดระดับความรุนแรงลงมาจนกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น รายได้ส่วนนี้ที่เคยได้รับก็จะหายไปด้วย ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อย ประกอบกับสถิติรายได้ของปี 2567 นี้ที่ลดลงกว่า 1,000 ล้านบาท และกลายมาเป็นโจทย์ของหน่วยงานว่าจะสามารถเรียกรายได้เพิ่มเข้ามาในประเทศได้อีกรายได้ในทางใดได้อีกบ้าง