เปิดใช้ท่าเรืออัจฉริยะ ‘พระราม 7’ กรมเจ้าท่ากางแผนอัพเกรด 29 แห่ง ริมเจ้าพระยา

ท่าเรือพระราม 7

ไตรมาส 2/68 ได้ฤกษ์กดปุ่มแกรนด์โอเพนนิ่ง เปิดใช้ท่าเรือพระราม 7 อย่างเป็นทางการ เป็นไปตามสโลแกนของหน่วยงานน้ำ “จท.-กรมเจ้าท่า” ที่บอกว่า “ท่าเรือยุคใหม่ สะดวก ปลอดภัย เทคโนโลยีก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยท่าเรือพระราม 7 ถูกดีไซน์ให้เป็นท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ และเป็น 1 ในแผนพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะอีก 29 แห่ง

โดย “มนพร เจริญศรี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลกรมเจ้าท่า เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเรือพระราม 7 พร้อมระบุว่า ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น

มนพร เจริญศรี
มนพร เจริญศรี

นโยบายมอบหมายสำคัญ ยังรวมถึงการส่งเสริมการเดินทางทางน้ำ และการท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ภายใต้นโยบาย “คมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” และ “ราชรถยิ้ม” เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการเชื่อมโยงโครงข่าย “ล้อ-ราง-เรือ” อย่างไร้รอยต่อ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทั้งประเทศ

“รมช.มนพร” กล่าวว่า ท่าเรือพระราม 7 เป็น 1 ในท่าเรือที่ได้รับการยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

สำหรับการออกแบบท่าเรืออัจฉริยะแห่งนี้ มีพื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร มีโป๊ะเทียบเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ระบบวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองคนมีไข้ก่อนเข้าพื้นที่ และปัญญาประดิษฐ์ AI จดจำใบหน้า กล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเตือนการรับน้ำหนักโป๊ะเทียบเรือ ระบบแสงไฟอัจฉริยะ ทางลาด และห้องน้ำผู้พิการ

ระบบอัจฉริยะ ยังรวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานหมุนเวียน ระบบไฟอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger) โดยคาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบสาธารณะทางน้ำ เฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 280,230 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ADVERTISMENT

ท่าเรือพระราม 7

ผู้บริหารกรมเจ้าท่า “กริชเพชร ชัยช่วย” อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมเจ้าท่ามีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า พระราม 7

โดยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปากเกร็ด ปัจจุบันโครงการปรับปรุงพัฒนาท่าเรือมีความคืบหน้า 68% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 และท่าเรือเกียกกาย โดยทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง

ท่าเรือที่เหลือ กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2568 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเทเวศร์ กับท่าเรือโอเรียนเต็ล และบรรจุในแผนดำเนินการของบประมาณปี 2569 จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ สี่พระยา พรานนก ซังฮี้ ท่ารถไฟ วัดตึก วัดสร้อยทอง วัดเขมา เขียวไข่กา พิบูลสงคราม 1 วัดเทพนารี วัดเทพากร และพิบูลสงคราม 2